ธปท.ยิบกลางสภา 2พรก.ซอฟต์โลน-BSFมีวัตถุประสงค์ชัด

31 พ.ค. 2563 | 09:32 น.

ธปท. แจงสภาฯ 2 พรก. “เงินกู้ก้อนใหม่เอสเอ็มอี-ย้ำกองทุนBSFเป็นเพียงหลังพิงเท่านั้น

แจงชัดๆ 2 พรก.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทั้ง ซอฟโลนต์และกองทุนBSF มุ่งเติมสภาพคล่อง “เงินกู้ก้อนใหม่เอสเอ็มอี-ขณะที่BSFตั้งเงื่อนให้ระดมทุนจากตลาดหุ้นกู้ไม่ต่ำกว่า 50%ก่อนใช้ ย้ำเป็นเพียงหลังพิงให้กับผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนเท่านั้น 

(31 พ.ค. 63)  นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการตาม พรก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 (พรก. BSF)และ พรก. ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พรก. ซอฟต์โลน) ประกอบด้วย
1. พรก. BSF ไม่ได้เป็นการกู้เงิน แต่เป็นการให้อำนาจ ธปท. จัดการสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน 

ธปท.ยิบกลางสภา  2พรก.ซอฟต์โลน-BSFมีวัตถุประสงค์ชัด

2. วัตถุประสงค์ของ พรก. BSF เพื่อการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน รักษามูลค่าการออมของคนไทย เป็นการให้ความเชื่อมั่นกับผู้ถือครองตราสารหนี้ภาคเอกชนที่เป็นประชาชนถึง 83% ของมูลค่าตราสารหนี้ทั้งหมด

3. อัตราดอกเบี้ยของ พรก. BSF และ พรก. ซอฟท์โลน สะท้อนวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน การนำ พรก.ซอฟต์โลนมาเปรียบเทียบกับ พรก. BSF อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดโดยสิ้นเชิง เนื่องจากทั้ง 2 พรก. มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  โดย พรก. ซอฟต์โลนเป็นการให้เงินกู้เพิ่มเติมจากเงินกู้เดิมที่ได้จากสถาบันการเงินอยู่แล้ว โดยเงินกู้ก้อนใหม่นี้ SMEs จะได้รับในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ พรก. BSF
ไม่ได้เป็นการให้เงินกู้เพิ่ม แต่เป็นการให้กู้ยืมเพื่อชำระตราสารหนี้เดิมที่ครบกำหนด ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่แพงที่สุด โดยบริษัทต้องไประดมทุนจากแหล่งอื่นๆ ก่อนที่จะมาขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF และเป็นการให้สภาพคล่องชั่วคราว เพื่อลดแรงจูงใจในการมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF เป็นอันดับแรก เพราะมีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องหาแหล่งเงินทุนภายนอกจากทั้งสถาบันการเงิน และตลาดหุ้นกู้มารวมกันไม่ต่ำกว่า 50% ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่ต้องระดมทุนเพื่อใช้คืนหุ้นกู้ครบกำหนด แต่ก็ไม่ได้มาใช้กองทุนนี้ สะท้อนว่า พรก. BSF เป็นเพียงหลังพิงให้กับผู้ถือตราสารหนี้ภาคเอกชนเท่านั้น 

4. การดำเนินการของกองทุน BSF เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่แยกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างคณะกรรมการกำกับกองทุนฯ และคณะกรรมการลงทุน รวมถึงยังมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนในการให้ความเห็น โดยกองทุนจะเปิดเผยผลการดำเนินงานทั้งรายชื่อบริษัทที่ได้รับความช่วยเหลือและมูลค่าสินทรัพย์รวมของกองทุนแก่สาธารณชนเป็นประจำ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สำหรับการผ่อนผันเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นก็จะดำเนินการเป็นการทั่วไปให้กับทุกบริษัท ไม่ได้ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นอกจากนี้ การมีผู้แทนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการลงทุนเพื่อช่วยในการพิจารณา เพราะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดตราสารหนี้ โดยหากมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างการลงทุนของกองทุน BSF กับการลงทุนของ กบข. กรรมการท่านนั้นจะไม่สามารถอยู่ร่วมพิจารณาในการประชุมวาระนั้นได้  

5. การให้สินเชื่อซอฟต์โลน เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือ SMEs และยังมีวงเงินพร้อมให้ความช่วยเหลือ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 10% ยังมีวงเงินเหลืออีกมาก และเป็นเพียงหนึ่งในมาตรการด้านการเงินช่วยเหลือ SMEs จากหลากหลายมาตรการ

ธปท.ยิบกลางสภา  2พรก.ซอฟต์โลน-BSFมีวัตถุประสงค์ชัด  
6. ความตื่นตระหนกของประชาชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในเดือนมีนาคม 2563 ทำให้เกิดการเทขายสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ รวมถึงกองทุนรวมตราสารหนี้ออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อไปถือเงินสด เงินฝากในระบบสถาบันการเงินจึงปรับเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนความรุนแรงของสถานการณ์ในช่วงนั้น ส่งผลให้ต้องมีการออกมาตรการสำคัญทั้งมาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมฯ (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) และการจัดตั้งกองทุน BSF เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักลงทุนทั่วไป ทำให้กลไกตลาดการเงินกลับมาทำงานได้ตามปกติ