‘ตู้แบ่งปัน’ วิถีใหม่+คุณค่าเดิม สร้างสังคม ‘ปกติสุข’

14 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3574 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ค.63

 

 

 

          โรคระบาดไวรัสโคโรนา2019 เป็นเชื้ออุบัติใหม่ที่ยังไม่มียารักษา ขณะนี้ทุกประเทศกำลังเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งรีบ ระหว่างนี้จึงต้องใช้วิธีปรับตัวตามความรู้ทางสาธารณสุขได้เรียนรู้จากเชื้อตัวนี้ 2 หลักการสำคัญคือ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และใส่หน้ากากป้องกันตัวเองรับเชื้อ หรือหากเป็นผู้ป่วยก็เพื่อป้องกันไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่น

          หลายประเทศที่ผ่านช่วงระบาดหนัก หรือสามารถควบคุมได้ดีเริ่มจำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดได้เพิ่มขึ้น แต่อีกหลายประเทศผู้ป่วยยังเพิ่มในอัตราเร่ง และยอดผู้เสียชีวิตยังมีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

          ประเทศไทยเข้าสู่โหมดการคลายล็อกมาตรการควบคุมต่างๆ หลังจากสามารถคุมการระบาดให้ลดต่ำลง มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มต่ำกว่าสิบรายต่อเนื่อง โดยผ่อนคลายให้กลับมาเปิดกิจกรรม-กิจการใหม่เป็นขั้นตอน กลุ่มแรก 6 ประเภทเริ่มเมื่อ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถ้าเปิดแล้วไม่มีการระบาดซ้ำ จะทะยอยให้เปิดกลุ่มที่สองในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้

          แต่ทุกกิจกรรมที่กลับมาเปิดใหม่ ต้องมีแนวปฎิบัติให้เป็นไปตาม 2 หลักการด้านสาธารณสุขข้างต้น ซึ่งต้องปรับตัวทั้งฝั่งผู้ประกอบการ และด้านผู้บริโภคหรือผู้รับบริการ อาทิ จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้เข้าไปแออัดในพื้นที่เดียวกัน การติดตั้งฉากกั้นเพื่อป้องกันการกระจายเชื้อ การเว้นที่นั่งบนรถโดยสารสาธารณะ เป็นต้น ที่จะต้องปฏิบัติกันเป็นวิถีชีวิตธรรมดาแบบใหม่ (New Normal)

          วิถีปกติใหม่นี้มิใช่มีเฉพาะในความสัมพันธ์ด้านเศรษฐสังคมเท่านั้น แต่ลงลึกและทำกันมาแล้วในระดับครอบครัวที่ทั้งอยู่บ้านหยุดเชื้อ และยังต้อง “เว้นระยะห่าง” แม้กับคนในครอบครัว ขณะที่ในสังคมก็มี อาทิ ออกนอกบ้านใส่หน้ากาก เข้ารับบริการต้องเข้าแถว รอคิว และเว้นระยะห่าง

          การปรับตัวช่วงเปลี่ยนผ่านนี้สร้างความยากลำบากให้ผู้คนจำนวนมาก หลายคนสูญเสียอาชีพ ขาดรายได้ ตกค้างอยู่ต่างถิ่น ซึ่งรัฐบาล หน่วยงานต่างๆ กิจการใหญ่เล็ก ตลอดจนผู้มีกำลัง ออกมาช่วยเหลือเจือจานให้คนที่ลำบากต่อเนื่องมาแต่ต้น

          “ตู้ปันสุข” ที่เปิดตัวไม่กี่วัน ไม่เพียงเป็นไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ต่างคนต่างเอาไปทำกันทั่วทุกหัวระแหงไม่แพ้ไวรัสระบาด เพียงยกตู้กับข้าวจากครัวออกมาตั้งริมทาง จัดหาของกินของใช้ที่มีใส่ตู้ไว้ เผื่อให้คนที่ต้องการมาหยิบไปใช้บำบัดความเดือดร้อนได้ในยามวิกฤติ พร้อมเปิดรับให้คนที่มีเอาของมาเติมไว้ในตู้ได้ ตามคำขวัญ “หยิบไปแต่พอดี ถ้ามีให้แบ่งปัน”

          ปรากฎการณ์ตู้กับข้าว“ปันสุข”เป็นวิถิปกติใหม่ในยุคโควิด-19 ไม่ต่างจากอดีตที่ตั้งคนโทน้ำริมรั้วให้คนที่ผ่านไปมาได้ดับกระหาย หรือเครือกล้วยที่แขวนจากชายคาบ้านให้ใคร ๆ มาปลิดกิน

          เป็นคุณค่าเดียวกันคือ “การแบ่งปัน” ระหว่างคนกับคน เป็นสังคมสวัสดิการของจริงจากมือของชาวบ้านคนเล็กคนน้อยด้วยกัน ที่ช่วยเติมเต็มให้ New Norml หลังยุคโควิด-19 เป็นวิถีชีวิตใหม่ที่เป็นปกติสุข