ยก ส่งออกอาหาร-พระเอกกู้เศรษฐกิจ อสังหาฯอ่วมข้ามปี

12 พ.ค. 2563 | 07:43 น.

VMPC ประเมินสถานการณ์หลังวิกฤตโควิด–19  “ส่งออกอาหาร” พระเอกกู้เศรษฐกิจ–“อสังหาฯ” อ่วมข้ามปี ดีมานด์เปลี่ยนรับ New Normal กับวิถีการทำงานแบบ Work From Home พร้อมจี้รัฐใช้นโยบายพิเศษกระตุ้นตลาดอสังหาฯ  แนะผู้ประกอบการสร้างวินัยทางการเงิน กำเงินสำรองประคองธุรกิจในภาวะฉุกเฉิน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด–19) ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจในวงกว้าง บางธุรกิจต้องหยุดชะงัก ปิดตัวชั่วคราว ในขณะที่บางธุรกิจตัดสินใจปิดกิจการถาวร เพราะขาดรายได้และแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงินจากความไม่สมดุลด้านรายได้และค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นประชาชนในการบริโภคสินค้าและบริการ ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าวิกฤตครั้งนี้จะซ้ำรอยวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 หรือไม่

 

•โควิด–19 กระทบเศรษฐกิจไม่ยาวนานเท่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

นายปริญญา เธียรวร ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท บริษัท วี. เอ็ม. พี. ซี. จำกัด (VMPC) ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ทั้งตลาดขายทำเลศักยภาพพระราม 2  และตลาดเช่าใจกลางสีลม–สาทรและศรีราชา เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบสถานการณ์ โควิด–19 กับวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ปี 2540  หรือเรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง ถือว่าวิกฤตโควิด–19 หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่เนื่องจากรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ มีมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่และทันท่วงที ด้วยการใช้วิธีการเพิ่มกระแสเงินสด ให้เกิดการหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากสถานบันการเงิน  เช่น พักชำระหนี้เงินต้น ลดดอกเบี้ย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการให้ประคองธุรกิจต่อไปได้

 

“โดยส่วนตัวมองว่าวิกฤติครั้งนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ปัญหาสามารถบริหารจัดการในประเทศได้ ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้งซึ่งเป็นการกู้เงินสกุลตราต่างประเทศ เมื่อรัฐบาลประกาศใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้ค่าเงินบาทไทยจากเดิมที่ตรึงไว้ 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนตัวสูงสุดประมาณ 50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยกตัวอย่าง กู้เงินดอลลาร์มา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่มีหนี้เป็นเงินไทย 25 ล้านบาท กลายเป็น 50 ล้านบาทเท่ากับว่าความมั่งคั่งของประเทศหายไปชัดเจน เหมือนโดนต่างชาติปล้น ซึ่งวิกฤตรอบนี้อยู่ในระดับที่เรียกว่า ‘หนักกว่า แต่ไม่นาน’ คือโดนหมัดเดียว ถ้าไม่น็อคลุกขึ้นมาก็ยังเดินต่อไปได้โดยขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและวินัยทางการเงินของแต่ละบริษัท แตกต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งที่ ‘หนักและนาน’ ลากยาว 8–9 ปี เหมือนโดนหมัดชุดชกจนน็อค”

 

•ยุคทอง “ส่งออกอาหาร–สินค้าเกษตร” พระเอกกู้วิกฤตเศรษฐกิจ

นายปริญญา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยการท่องเที่ยวเดินเครื่องเต็มกำลังมาหลายปี ขณะที่ภาคการส่งออกยังเดินเครื่องไม่เต็มกำลัง แต่เมื่อการท่องเที่ยวต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้นการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนและพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังจากนี้  โดยได้รับอานิสงส์จากความวิตกกังวลทำให้คนกักตุนอาหาร การบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารได้รับประโยชน์ และถือเป็นยุคทองของการส่งออกอาหารและการเกษตร ส่วนปัญหาภัยแล้งในปี 2563 ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะรุนแรงนั้น รัฐบาลต้องหาทางบริหารจัดการให้เกษตรกรได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และผลผลิตมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ ถ้าผลผลิตเหลือจึงส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ 

 

 สำหรับการท่องเที่ยวยังคงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยธุรกิจโรงแรมต้องสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยของผู้เข้าพัก ซึ่งคาดว่าภาพของการคัดกรองและป้องกันจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการชีวิตประจำวันของทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น การสวมหน้าอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจสอบประวัติการเดินทาง การระบุข้อมูลการเช็คอินในสถานที่ต่างๆ รวมถึงการบริการเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่างๆ ของโรงแรม และสถานบริการ แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ จะต่อเนื่องยาวนานต่อไปอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปี  ทั้งนี้โดยรัฐบาลจะต้องมีนโยบายระดับประเทศเพื่อฟื้นฟูและสร้างความมั่นใจในภาพรวมการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย
 

•อสังหาฯ ซึมยาวข้ามปี–ดีมานด์เปลี่ยน

นายปริญญา กล่าวว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะยังอยู่ในภาวะขาลงหรือซบเซาต่อเนื่องไปถึงปี 2564 จากเดิมที่มีปัจจัยลบต่างๆ รุมเร้า ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อ ภาระหนี้ครัวเรือนสูง การบังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และล่าสุดวิกฤตโควิด–19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค การชะลอตัวของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แย่ลงอีก และเพื่อปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จะได้เห็นการปรับลดราคาอสังหาริมทรัพย์ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สงครามราคาจะเกิดขึ้น แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อนำเงินสดมาหมุนเวียนใช้ภายในบริษัท 

 

ซึ่งหากรัฐบาลต้องการให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวเร็วขึ้น ต้องใช้นโยบายพิเศษ เช่น การอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านและที่ดิน จากปัจจุบันที่กำหนดเงื่อนไข  เช่น ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท ลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี และได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

นอกจากนี้ หลังวิกฤตโควิด–19  อาจส่งผลให้รูปแบบอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนแปลงจากการปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานเป็น Work From Home หรือทำงานที่บ้าน ซึ่งจะทำให้ความต้องการคอนโดมิเนียมในเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นห้องขนาดเล็กลดลง แต่ดีมานด์คอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ที่อยู่ห่างใจกลางเมืองเพิ่มขึ้น รวมถึงบ้านเดี่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันจะได้รับความนิยมสูงขึ้น  เพราะการทำงานที่บ้านจะเป็นความปกติใหม่ (New Normal) ในวิถีชีวิตของคนทำงาน โดยอาจจะเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละ 1–2 ครั้ง พนักงานไม่จำเป็นต้องมีโต๊ะประจำ ขนาดของออฟฟิศเล็กลง ซึ่งจากดีมานด์ที่ลดลงอาจทำให้ธุรกิจสำนักงานให้เช่าต้องปรับตัว ขณะที่บริการพื้นที่ทำงานในรูปแบบ Co–Working Space ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้

 

•แนะผู้ประกอบการสร้างวินัยทางการเงิน–สำรองใช้ยามฉุกเฉิน

ซีอีโอ VMPC นายปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด–19 เป็นวิกฤตจากโรคระบาด ไม่ได้เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโดยตรง แต่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างรวดเร็วมาก มีการปิดประเทศทั่วโลก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะฉะนั้น การสร้างวินัยทางการเงินถือเป็นเรื่องจำเป็นการเตรียมเงินสำรองไว้หล่อเลี้ยงธุรกิจ มีก๊อก 2 ก๊อก 3 ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจะสร้างความได้เปรียบและสามารถยืนหยัดอยู่ได้  แต่หากไม่มีเงินหมุนเวียนอาจจะต้องปิดหรือขายกิจการ รวมไปถึงการบริหารธุรกิจที่สามารถปรับเปลี่ยนบริการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ได้อย่างรวดเร็วเช่น ธุรกิจอสังหาฯ ประเภทที่พักและโรงแรมที่สามารถรองรับผู้เข้าพักได้ทั้ง Long stay และ Short time เป็นต้น

 

“สถานการณ์โควิด–19  ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือนและส่งผลกระทบเร็วมาก แต่บล็อกเศรษฐกิจทั่วโลกเลย และต้องใช้เวลาอีกเป็นปีๆ กว่าจะฟื้นเต็มที่ทั้งหมดเพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้อง Conservative พอสมควรต้องบริหารจัดการด้วยความระมัดระวังและรอบคอบด้านการลงทุน เพราะเมื่อมีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้น เราจะพร้อมที่จะรับมือและไปต่อได้ ในภาวะเช่นนี้เชื่อว่าไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำอย่างไรให้เราบาดเจ็บน้อยที่สุด และยังสามารถพยุงธุรกิจต่อไปได้จนสามารถไปสู่ภาวะปกติ”