บริษัททวงหนี้ ร้องรัฐเยียวยา เว้น"VAT-หักภาษี ณ ที่จ่าย"

09 พ.ค. 2563 | 02:10 น.

บริษัทผู้ประกอบธุรกิจทางถามหนี้ ร้องรัฐเยียวยา “งดเก็บแวต-ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” 3 เดือน หวังผ่อนภาระค่าใช้จ่าย  เหตุรับผลกระทบตรงจากมาตรการ พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ส่งผลไร้งานติดตามหนี้ ขาดรายได้ 5 อันดับพอร์ตหนี้เฉียด 5 หมื่นล้าน

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยการให้ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ บริษัทลีสซิ่ง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อ ดำเนินการให้ลูกหนี้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ลูกหนี้ แต่กลายเป็นว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งมีกว่า 68 แห่ง ที่ไม่มีงานจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นการชั่วคราวไปด้วย ทำให้ต้องเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐบาลเช่นกัน

 

นายวีรพล ตัณสถิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัชรรัตน์ คอนซัลแท้นท์ จำกัด ที่ปรึกษาและตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ สายธุรกิจเช่าซื้อ รถยนต์และรถจักรยานยนต์เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  บริษัทได้เป็นตัวแทนให้กับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อีก 68 แห่งทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. เพื่อขอรับการช่วยเหลือเยียวยาในการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้จากวิกฤติโควิด-19

 

ทั้งนี้จากมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของธปท. ทำให้ลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้คืนให้กับสถาบันการเงิน ไม่ต้องจ่ายค่างวดนั้นไปเป็นเวลา 6 เดือน โดยที่สถาบันการเงินเองจะปรับระบบทางบัญชีให้ลูกหนี้ไม่มียอดค้างชำระหรือจำนวนยอดค้างชำระลดลงจำนวนมากส่งผลให้สถาบันการเงินไม่ส่งงานติดตามทวงถามหนี้ให้กับผู้ประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้

 

“ถ้าทางสถาบันการเงินไม่ส่งงานทวงถามหนี้มาให้เรา เราเองก็จะไม่มีงานให้พนักงานไปติดตามทวงถามเหมือนในสถานการณ์ปกติ โดยจะไม่มีงานไปอีก 6 เดือน ทำให้กระทบต่อธุรกิจของเราที่จะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการจะไม่มีรายได้ใดๆไปอีก 6 เดือน หรืออาจจะกระทบนานถึงสิ้นปี กว่าจะเริ่มต้นเดินธุรกิจใหม่ได้”

 

บริษัททวงหนี้ ร้องรัฐเยียวยา เว้น"VAT-หักภาษี ณ ที่จ่าย"

ดังนั้นทางผู้ประกอบการมีทางเลือก 2 ทางคือ 1.พักงานพนักงานทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ 2.ให้พนักงานทวงถามหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนออกจากงาน ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใด ต่างก็มีต้นทุนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานอยู่บางส่วน โดยไม่มีงาน หรือเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน แม้เหตุผลของการเลิกจ้างจะด้วยเหตุผลจากวิกฤติโควิด-19 ก็ตาม ซึ่งเบื้องต้นได้เลือกแนวทางแรกคือ พักงานพนักงานบางส่วนทั้งที่เป็นพนักงานภายในสำนักงานและพนักงานภาคสนามเป็นเวลา 3 เดือน

 

นายวีรพลกล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้จะมีลูกจ้าง 2 ส่วนคือ ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม โดยที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้วคือ ลูกจ้างในระบบประกันสังคม โดยลูกจ้างสามารถขอรับความช่วยเหลือจากประกันสังคม และทางสำนักงานประกันสังคมจะช่วยเหลือเยียวยา 62% ของค่าจ้างเมื่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นนายจ้างขอพักงานพนักงานเป็นเวลา 3 เดือน อีกส่วนคือ ลูกจ้างอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม โดยมีสัญญาจ้างเหมาจ่ายแรงงาน 5,000 บาทต่อคนต่อเดือน ได้ไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน

 

“ขณะที่ส่วนของผู้ประกอบการ เบื้องต้นภาครัฐ โดยธนาคารออมสินและธปท.มีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (Soft Loan) คิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มภาระหนี้ ซึ่งหากเลือกได้ ผู้ประกอบธุรกิจเองยังไม่มีความต้องการเงินกู้ดังกล่าวแต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบธุรกิจจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพนักงานไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษี ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยากลุ่มผู้ประกอบธุรกิจติดตามทวงถามหนี้ ภายใต้พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 เฉพาะกลุ่มนี้มีสมาชิก 68 บริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด  โดยเสนอให้งดเว้นและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% เป็นเวลา 3 เดือน เพราะไม่เพียงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ยังเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้อีกด้วย เพราะในการเรียกเก็บแวต  ผู้ประกอบการจะเรียกเก็บจากลูกหนี้แทนเจ้าหนี้ โดยบวกเพิ่มเข้าไปในค่าทวงหนี้ ซึ่งทำให้ลูกหนี้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และยังของดเว้นและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% ออกไป 3 เดือน

 

“ถ้าได้รับยกเว้นภาษีจากกรมสรรพากรทั้ง 2 ส่วนในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะช่วยผ่อนปรนภาระค่าใช้จ่ายกับบริษัทติดตามทวงถามหนี้ได้มาก เพราะปัจจุบันเราโดนจ่ายแวต 2 ทาง (ทั้งแวตขาเข้าและแวตขาออก) โดยค่าจ้างจากการเรียกเก็บจากลูกหนี้ตามข้อตกลงกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างนั้น ซึ่งส่วนใหญ่บริษัท Out Source จะได้รับไม่เต็มจำนวนอยู่แล้ว”

 

สำหรับบริษัทที่ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ที่มีพอร์ตค่อนข้างใหญ่ 5 อันดับแรก เช่น บริษัท ลีดเดอร์ กรุ๊ป (กรุงเทพมหานคร) มีจำนวนงานที่รับต่อเดือน 522,400 สัญญา/บัญชี  มูลค่าหนี้ที่รับผิดชอบประมาณ 36,614.67 ล้านบาท จำนวนพนักงาน 1,080 คน บริษัท นนทนวัฒน์(กรุงเทพมหานคร) มีจำนวนลูกค้า 10,000 สัญญา มูลหนี้ 4,000 ล้านบาท พนักงาน 200 คน บริษัท เพชรประชาอินเตอร์กรุ๊ป(อุดรธานี) มีจำนวนลูกค้า 10,000 สัญญา/บัญชี มูลหนี้ 3,000 ล้านบาท พนักงาน 100 คน ห้างหุ้นส่วน ธีระโปรเกรส(เชียงใหม่) ลูกค้าจำนวน 5,000 สัญญา มูลหนี้ 130 ล้านบาท พนักงาน 80 คน และห้างหุ้นส่วนสำนักงาน เอ็น.เค บิสซิเนส(เชียงราย) จำนวนลูกค้า 4,000 สัญญา มูลหนี้ 100 ล้านบาท พนักงาน 70 คน

 

สำหรับบริษัท วัชรรัตน์ คอนซัลแท้นท์ จำกัด ดำเนินธุรกิจที่ปรึกษากลุ่มผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ซึ่งประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ สายธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นบริษัท/ห้างหุ้นส่วนจำกัด และได้จดทะเบียนเป็นสำนักงาน ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (สำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ) และที่ทำการปกครองจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (สำนักงานอยู่ต่าง จังหวัด) ให้บริการรับจ้างเป็นตัวแทนทวงถามหนี้ให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน บริษัทลีสซิ่ง ทั้งเอกชนและของรัฐ มีพนักงานในสังกัดทั้งที่เป็นพนักงานประจำและพนักงานสัญญาจ้างเหมา

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563