สหรัฐฯอนุมัติใช้ "เรมเดซิเวียร์" รักษาฉุกเฉินผู้ป่วยโควิด

02 พ.ค. 2563 | 05:28 น.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) อนุมัติฉุกเฉินให้มีการนำ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงได้แล้ว ตามที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เสนอและเป็นคนให้ข่าวนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (1 พ.ค.)

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ เอฟดีเอระบุว่า สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์ทั้งกับผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กที่มีอาการป่วยรุนแรง มีระดับออกซิเจนในกระแสเลือดต่ำ หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ “เนื่องจากยังไม่มีการรักษาทางเลือกอื่น ๆ ที่ได้รับการรับรองหรือเป็นทางเลือกได้มากพอ เราจึงให้น้ำหนักกับประโยชน์ในการใช้ยานี้ ในการรักษาโรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้คน มากกว่าโอกาสความเสี่ยงของการใช้ยา" 

ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อวาน (1 พ.ค.) ภายหลังการหารือที่ทำเนียบขาว กับนายอะเล็กซ์ อาซาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ นายแพทย์สตีเฟ่น ฮาห์น ผู้อำนวยการเอฟดีเอ และซีอีโอของบริษัทกิเลียด ไซเอินซ์ ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์

 

ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตยาเปิดเผยว่า การที่เอฟดีเออนุมัติการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก และบริษัทจะบริจาคยาเรมเดซิเวียร์เพื่อสามารถใช้กับผู้ป่วยจำนวน 1 ล้านคน ด้านนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ แจ้งว่าจะเริ่มแจกจ่ายยาไปตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พ.ค.เป็นต้นไป

 

 ทรัมป์ ผลักดันเรื่องนี้ หลังจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐ หรือ NIAID แถลงผลการใช้ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับปอด อีกทั้งเคยใช้รักษาผู้ป่วยอีโบล่า พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์สามารถฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอก (placebo) ในอัตรา 31%

 

จากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,063 ราย พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ใช้เวลาในการฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก โดยเวลาเฉลี่ยในการฟื้นตัวของผู้ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 11 วัน ส่วนผู้ที่ได้รับยาหลอกอยู่ที่ 15 วัน

ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ สหรัฐฯ

ดร.แอนโธนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ปรึกษาฝายสาธารณสุขประจำทำเนียบขาว กล่าวว่า ยาชนิดนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ป่วยหนัก เหมือนกับที่ใช้ในการศึกษา แต่จะไม่ใช้ทดสอบกับผู้ที่มีอาการป่วยไม่มาก

 

ขณะที่สำนักงานอาหารและยา หรือ เอฟดีเอ อาจเปลี่ยนสถานะของยาเป็นอนุมัติเต็มรูปแบบในอนาคต หากบริษัทกิเลียดฯ แสดงตัวเลขสถิติเพิ่มเติมถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา

 

ก่อนหน้านี้ เอฟดีเออนุมัติการใช้ยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรีย กับผู้ป่วยโควิด-19 แบบฉุกเฉินไปแล้ว หลังจากประธานาธิบดี ทรัมป์ ให้การสนับสนุนว่า ยาดังกล่าวใช้รักษาโควิด-19 ได้ และหลังจากมีผลการศึกษาขั้นสูงยืนยันในประสิทธิภาพของยา แต่ยังมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการใช้ยาและผลข้างเคียง

 

สำหรับตัวเลขล่าสุด ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 1,121,419 คน จากผู้ติดเชื้อทั่วโลก 3,386,058 คน ส่วนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 65,295 ราย จากยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลก 238,764 ราย สหรัฐฯครองอันดับหนึ่งทั้งสองรายการ