คลังจ่อขาย"พันธบัตรออมทรัพย์"แสนล้าน

27 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

คลังเตรียมขายพันธบัตรออมทรัพย์ 1 แสนล้านบาท ใน 1-2 เดือนนี้ เหตุประชาชนถือเงินสดเยอะ ขณะที่ดอกเบี้ยขาลง หวังเพิ่มทางเลือกและดูแลประชาชนผู้ออมเงิน ลั่นให้ส่วนต่าง 30-40%   

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแผนที่จะออกและเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มอีกใน 1-2 เดือนจากนี้ โดยคาดว่า จะเป็นวงเงินที่สูงมากประมาณ 1 แสนล้านบาท จากช่วงปกติในช่วงครึ่งหลังปีงบ ประมาณจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท หลังจากได้ออกรอบแรกไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.7% และ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.95% และยังมีพันธบัตรพิเศษอีก 5 พันล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.00% ขายให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นการเฉพาะด้วย

“ปีงบประมาณ 2563 ตั้งวงเงินออกพันธบัตรออมทรัพย์ไว้ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งรอบแรกที่ออกไป 2 หมื่นล้านบาทหมดในเวลารวดเร็ว เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยในระบบตํ่าด้วย ขณะที่ถ้าเป็นดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ ปกติก็จะมีส่วนต่างดอกเบี้ยให้อยู่แล้ว แน่ๆ คือบวกภาษีที่ต้องจ่ายไป 15% แต่รอบแรกที่ออกไปบวกเพิ่มไป 30-40% จากดอกเบี้ยออมทรัพย์ทั่วไป”

 

คลังจ่อขาย"พันธบัตรออมทรัพย์"แสนล้าน

ทั้งนี้จากการประเมินความต้องการในตลาดถือว่า สามารถรับได้เป็นแสนล้านบาท เพราะช่วงนี้คนถือเงินสดเยอะ  จึงอยากให้เป็นทางเลือกหนึ่งในการลงทุนให้กับประชาชนทั่วไป ก่อนที่จะนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น และยังต้องการดูแลประชาชนในภาวะดอกเบี้ยตํ่าด้วย เพราะเป็นแหล่งเงินได้ที่ค่อนข้างใหญ่ ถ้าดอกเบี้ยดี ก็เป็นที่น่าสนใจ ส่วนจะขายให้กับผู้สูงอายุก่อนหรือไม่ คงต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และจะใช้ชื่อพันธบัตรอะไรก็คงต้องมาดูกันอีกครั้ง เพราะเป็นการกู้สูงสุดในประวัติศาสตร์แบบนี้

ส่วนแผนกู้เงินตามกรอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องเป็นการกู้ตามแผนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกลั่นกรอง ที่มีเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นประธาน ซึ่งพ.ร.ก.ให้อำนาจกู้เงินได้ทั้งเงินบาทและเงินตราต่างประเทศ แต่จะเป็นการกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสบน.กำลังดูเงื่อนไขของแต่ละแพ็กเกจ ที่หน่วยงานนำเสนอเพื่อวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่า ความคุ้มทุน และสภาพคล่องในประเทศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การ ออกพ.ร.ก.นี้ไม่ได้ไปช็อกตลาด จนทำให้สภาพคล่องในตลาดมีปัญหา เพราะสถาบันการเงินเองต้องเตรียมความพร้อม เพื่อดูแลลูกค้าเขาเหมือนกัน และบางส่วนอาจจะไปใช้เงินในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณด้วย

ดังนั้น การกู้ยืมในประเทศ ต้องไม่ตํ่ากว่า 80% ส่วนเงินกู้ต่างประเทศจะต้องพิจารณาดูความเหมาะสมและเงื่อนไขโดยองค์กร ระหว่างประเทศที่นำเสนอเข้ามา มีทั้งธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (เอดีบี) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไข เพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนต่อรัฐบาลมาก โดยปัจจุบันรัฐบาลมีต้นทุนเฉลี่ยที่ 3% นิดๆ  

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26 - 29 เมษายน พ.ศ. 2563