คลังเตรียมกู้ 7 หมื่นล้าน จ่าย”เราไม่ทิ้งกัน” 8 พ.ค.

22 เม.ย. 2563 | 09:57 น.

คลังเตรียมกู้เงินล็อตแรก 7 หมื่นล้าน จ่ายเยียวยา“เราไม่ทิ้งกัน” รอบ 2 ยันประชาชนที่ผ่านการคัดกรอง ได้เงินวันที่ 8 พ.ค.นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะได้ปรับแผนการก่อหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 หลังจากพระราชกำหนด(พรก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมีผลบังคับใช้  โดยจะมีการกู้เงิน 6 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และอีก 4 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ 2564  ดังนั้นจึงมีการก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้น 6.03 แสนล้านบาททำให้วงเงินการกู้ใหม่ในปีงบประมาณ 2563 เพิ่มจาก 8.94 แสนล้านบาทเป็น 1.497 ล้านล้านบาท 

คลังเตรียมกู้ 7 หมื่นล้าน จ่าย”เราไม่ทิ้งกัน” 8 พ.ค.

ทั้งนี้ภายใต้พรก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะมีการกู้ล็อตแรก 7 หมื่นล้านบาท เป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน(P/N) อายุ 4ปี เพื่อนำมาใช้ในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) รายละ 5,000 บาทในโครงการเราไม่ทิ้งกัน รอบที่ 2 ซึ่งจะมีการจ่ายเงินในวันที่ 8 พฤษภาคม ดังนั้นในวันที่ 29 เมษายนนี้ สบน.จะออกหนังสือชี้ชวนให้ธนาคารพาณิชย์ที่สนใจเข้าร่วมปล่อยกู้ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน เข้าเสนออัตราดอกเบี้ย โดยสบน.จะพิจารณารายที่เสนอดอกเบี้ยต่ำสุด จากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงกรุงเทพ(BIBOR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ 0.97% บวก 5จุดทศนิยม         

“เราขอให้ประชาชนอุ่นใจว่า ผู้ที่ผ่านการคัดกรองในโครงการเราไม่ทิ้งกัน จะได้รับเงินรอบ 2 ในวันที่ 8 พฤษภาคมแน่ เพราะเรากำลังดำเนินการที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อให้ได้รับเงินเข้าคลังภายในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อพร้อมที่จะจ่ายในวันที่ 8 พฤษภาคมตามกรอบที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี 14 ล้านราย”

คลังเตรียมกู้ 7 หมื่นล้าน จ่าย”เราไม่ทิ้งกัน” 8 พ.ค.

สำหรับการกู้เงินของสบน.จะกู้ตามความต้องการใช้เงินตามแผนใช้เงินที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกรั่นกรองแล้วโดยจะมีการกู้ทั้งระยะสั้นคือ ตั๋ว P/N,Term Loan และจะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในการออกตั๋วเงินคลัง(T-Bill) เพื่อไม่ให้ชนกับของธปท. และระยะยาว จะเป็นการออกพันธบัตร ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรออมทรัพย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกการออมให้กับประชาชน  โดยพันธบัตรออมทรัพย์คาดว่าจะสามารถออกขายได้ใน 1-2 เดือนข้างหน้าและขนาดน่าจะมากกว่าแผนเดิมที่จะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังงบประมาณ 2563ที่ 2-2.5 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในแผนกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะเป็นการกู้เงินในประเทศ ไม่ต่ำกว่า 80% ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้เงินต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาถึงความคุ้มค่าและความคุ้มทุน  และสภาพคล่องในประเทศด้วยว่า การออกพรก. 1 ล้านล้านบาทจะต้องไม่ไปทำให้สภาพคล่องในตลาดมีปัญหา โดยจากประมาณการก่อหนี้ในปีงบประมาณ 2563 จะทำให้ สัดส่วนหนี้สาธารณะ เพิ่มเป็น  51.84% ภายใต้สมมุตฐานประมาณการการขยายตัวทางเศรษบกิจติดลบ 5.3% ของธปท. และคาดว่าระดับหนี้สาธารระจะเพิ่มเป็น 57.96% ในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้จีดีพีเติบโต 3%