"เราไม่ทิ้งกัน" ขยายสิทธิ์ "เยียวยา5พัน" เกษตรกร-นักศึกษา ได้ด้วย

21 เม.ย. 2563 | 09:04 น.

ครม.เคาะแล้ว "เราไม่ทิ้งกัน" ขยายสิทธิ์จาก 9 ล้าน เป็น 14 ล้านคน "เยียวยา5พัน" เกษตรกร-นักศึกษา-ทำงานพาร์ทไทม์ ได้ด้วย นาน3เดือน

จากกรณีที่ที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ให้จ่าย เยียวยา 5,000 บาท ในมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพิ่มจาก 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน 

ซึ่งวาระนี้ กระทรวงการคลังรายงานที่ประชุมครม. จากการเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนตามมาตรการฯ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม ถึงวันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน 2563 เวลา 20.00 น. พบว่า ผู้ลงทะเบียน มีจํานวนรวม 27.76 ล้านคน ซึ่งมีจํานวนมากกว่าที่ได้ประมาณการไว้ อีกทั้งจากการรับเรื่องร้องเรียนของเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก 

ดังนั้นจึงเห็นควรให้ ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับสิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หากผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มดังกล่าวได้รับสิทธิ ตามมาตรการฯ แล้วจะไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือจากมาตรการใด ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) อีกต่อไป 

นอกจากนี้ผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มปรากฏอยู่ในฐานข้อมูล นักเรียน/นักศึกษา แต่เป็นนักเรียนนักศึกษาไม่เต็มเวลา และประกอบ อาชีพลูกจ้าง แรงงาน หรือประกอบอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลัก ดังนั้น จึงเห็นควรให้ผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ได้รับ สิทธิตามมาตรการฯ ดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ดังนั้น กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว เห็นสมควรเสนอทบทวนมติครม.เกี่ยวกับ มาตรการฯ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ดังนี้

1.ขยายจํานวนผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิของมาตรการฯ ให้ครอบคลุมทั่วถึงผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) จากเดิมจํานวน 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน

2.ขยายกรอบวงเงินสําหรับใช้ในการดําเนินโครงการจากเดิม จํานวน 45,000 ล้านบาท เป็น จํานวน 210,000 ล้านบาท (5พันบาทต่อเดือน3เดือน14ล้านคน) ประกอบด้วย  1.งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงิน สํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น จํานวนไม่เกิน 45,000 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เพื่อชดเชยรายได้ในเดือนเมษายน 2563

2. งบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการ เงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น เพิ่มเติม จํานวนไม่เกิน 25,000 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการ ชดเชยรายได้ของผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิจํานวน 14 ล้านคน ในเดือนเมษายน 2563

3. เงินกู้ตามพระราชกําหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จํานวนไม่เกิน 140,000 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ของผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิจํานวน 14 ล้านคน ในเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน 2563

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ดําเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจําเป็น พ.ศ. 2562 แล้ว และขอให้สํานักงบประมาณ นําเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าวประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในคราวเดียวกัน อีกทั้ง การดําเนิน มาตรการฯ เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ) และประกาศ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง การดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระ ต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 โดยกระทรวงการคลังได้จัดทํารายละเอียดข้อมูล ที่ต้องนําเสนอตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ เรียบร้อยแล้ว