ธปท.ผนึก 9 องค์กรการเงินอุ้มลูกหนี้ดี 

25 มี.ค. 2563 | 09:51 น.

แบงค์ชาติ ผนึก  9 องค์กร ออกมาตรการขั้นต่ำหวังลดความกังวลและภาระ -โฟกัสอุ้มลูกหนี้ดี  6 ประเภท ทั้งลดวงเงินและดอกเบี้ยผ่อนชำระ พักหนี้  แปลงเป็นหนี้ระยะยาว หลังคืบหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กว่า 1.56 แสนราย มูลหนี้กว่า 3.1 แสนล้านบาท


นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. ร่วมแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน และนันแบงก์โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือเป็นหนี้เสีย 

นายวิรไท ระบุว่าที่ผ่านมาธปท.ได้ให้ความสำคัญในการดูแลลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากได้ออกแนวระดับปฏิบัติ เรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งพักชำระเงินต้นและยืดหนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินต่างๆมีความตื่นตัวมากขึ้นโดยมียอดปรับปรุงโครงสร้างหนี้คืบหน้าจำนวน 156,000 รายมูลหนี้ 310,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)มีผลกระทบกว้างไกล ไปในหลายพื้นที่และหลายอุตสาหกรรม แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง และธนาคารไปในระบบจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามนั้น แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือลูกหนี้  

ที่ผ่านมาธปท.ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารต่างชาติ สถาบันการเงินของรัฐ   (แบงก์รัฐ) รวมถึงหน่วยงานที่ธปท. ไม่ได้กำกับโดยตรง เช่น สมาคมลิสซิ่งไทย  สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย  ชมรมบัตรเครดิต รวมถึงชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล มีความเห็นร่วมกันที่จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวโยงกับภาคการท่องเที่ยว และที่หยุดดำเนินการตามนโยบายควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งเป็นมาตรการขั้นต่ำที่มุ่งช่วยลดความกังวล สำหรับลูกค้า ประชาชน ที่กำลังจะครบกำหนดชำระค่างวด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562  และเป็นการลดภาระซึ่งมาตรการ ขั้นต่ำ ที่ออกมาจะไม่มีผลต่อสถานะทางการเงิน ของลูกค้า หรือการบันทึกประวัติทางการเงินตามแนวทางของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเอ็นซีบีแต่อย่างใด

"วันนี้ธปท.และสถาบันผู้ให้บริการทางการเงินทั้ง 9 แห่ง ร่วมใจกันออกมาตรการกลางขั้นต่ำ แต่สถาบันต่างๆยังมีมาตรการนอกเหนือพิเศษที่จะช่วยลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่ยังไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล และขอแนะนำลูกหนี้ ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบกรณีของไวรัสโควิด ทยอยชำระหนี้ตามปกติ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เราต่างไม่เคยได้เจอ จึงขอให้เราผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน"ผู้ว่าธปท.กล่าว 

ด้านนายรณดล ระบุว่า สำหรับมาตรการขั้นต่ำที่จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นผิดนัดเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562  ประกอบด้วยสินเชื่อ 6 ประเภทได้แก่ 1 สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อหมุนเวียน(revolving Loan)ทางสถาบันการเงิน เจ้าหนี้จะพิจารณา ลดวงเงินการผ่อนชำระต่องวดลง เหลือ 5% ในปี 2563-2564 จากปกติอยู่ที่10% จากนั้นผ่อนชำระเพิ่มเป็น 8% ในปี 2565 และผ่อนชำระเป็นปกติที่ 10%ในปี2566 ขณะเดียวกันลูกหนี้ยังสามารถที่จะเลือกแนวทางแปลงหนี้ระยะแปลงเป็นหนี้ระยะยาวได้ด้วย 

2.สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทั้งธนาคารพาณิชย์และนันแบงก์เช่นเลื่อนชำระเงินต้นดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือลดวงเงินผ่อนชำระ 30% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

3 . สินเชื่อเช่าซื้อ ประกอบด้วยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ที่มีวงเงินไม่เกิน 3.5 หมื่นบาท และสินเชื่อรถทุกประเภทที่ราคาไม่เกิน 2.5 แสนบาท สามารถเลื่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน 

4.สินเชื่อ ลิสซิ่ง  ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร โดยมีมูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถเลื่อนหรือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือตามเอกสารระบุ 

5.สินเชื่อบ้านสำหรับวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทสามารถพักชำระเงินต้น เป็นเวลา 3 เดือน และสถาบันการเงินอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ 

6.สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี  สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อไมโคร ไฟแนนซ์ ที่มีวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทสามารถพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบัน การเงินเจ้าหนี้ได้โดยตรงเพื่อเจรจาเงื่อนไขและรายละเอียด (ตามเอกสารเผยแพร่)

ธปท.ผนึก 9 องค์กรการเงินอุ้มลูกหนี้ดี