ทิสโก้ มองศก.ไทยปี63 เสี่ยงขยายตัวติดลบ

10 มี.ค. 2563 | 05:41 น.

TISCO ESU คาด GDP ไทยปี63 โตเพียง 0.8% และมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ทั้งปีอาจขยายตัวติดลบ หากสถานการณ์ COVID-19, ภัยแล้ง และการร่วงลงแรงของราคาน้ำมัน รุนแรงยืดเยื้อกว่าคาด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)  ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดเติบโตเพียง 0.8% ต่ำสุดในรอบ 9 ปี และมีความเสี่ยงสูงขึ้นที่ทั้งปีอาจขยายตัวติดลบ หากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ( COVID-19), ภัยแล้ง และการร่วงลงแรงของราคาน้ำมัน รุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด

พัฒนาการของสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐานเดิม ทั้งจากการแพร่ระบาดนอกประเทศจีน และตัวเลขเบื้องต้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบิน (สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, หาดใหญ่ และภูเก็ต) ในเดือน ก.พ. - มี.ค. หดตัวลงแรงกว่าที่เราประเมินไว้ โดยในเดือน ก.พ. หดตัว -46% YoY และในเดือน มี.ค. (วันที่ 1-6) หดตัว -58%

ดังนั้น จึงได้มีการปรับลดสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีฐานให้แย่ลง จากเดิมคาดว่าจะลดลงเพียง 2.2 ล้านราย (-5% YoY) มาเป็นลดลง 7.3 ล้านราย (-18%) ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี2563 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.5 ล้านคนเท่านั้น

โดยมองว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวที่แย่ลง (ทั้งต่างชาติเที่ยวไทยและไทยเที่ยวไทย) จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้มากที่สุด เนื่องจากเป็นแหล่งพื้นที่หลักของนักท่องเที่ยว โดยกว่า 80% ของเม็ดเงินการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเกือบ 60% ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยกระจุกตัวใน 2 ภูมิภาคดังกล่าว

จากรายได้ของภาคการท่องเที่ยวที่แย่ลงอย่างมีนัยยะ กอปรกับห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการที่จีนปิดเมือง (Supply Disruption) รวมทั้งอุปสงค์ต่างประเทศที่อ่อนแอลง ทำให้ TISCO ESU ปรับลดคาดการณ์จีดีพไทยในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 0.8% (จากคาดการณ์เดิมที่ 1.7%) โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัว YoY ในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยยะ เราคาดว่า กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 0.25% ไม่เกินช่วงไตรมาส 2 นี้ (เร็วสุดคาดว่าจะมีการปรับลดในการประชุมวันที่ 25 มี.ค. หลังจากได้มีการปรับลดลงไปแล้ว 0.25% ในการประชุมวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ดี มองว่าความเสี่ยงด้านต่ำ (Downside Risk) ของเศรษฐกิจไทย ยังมีอยู่สูงและมีโอกาสที่ GDP ทั้งปีอาจจะ หดตัวได้ในปีนี้ จากความเสี่ยงสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะ ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีอยู่สูง อาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ในกรณีฐาน , ความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้ง  ซึ่งก่อนหน้านี้ (รายงาน TIPS ฉบับเดือน ก.พ.) ให้น้ำหนักกรณีฐานว่าภัยแล้งจะลากยาวเพียง 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีราว 0.2% อย่างไรก็สถานการณ์ภัยแล้งอาจรุนแรงและลากยาวไปช่วงสิ้นปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะข้าวนาปีที่ผลผลิตกว่า 90% ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว

 ความไม่สงบของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และราคาน้ำมันทรงตัวในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน โดยเมื่อวันที่9 มีนาคม 63 WTI มีการซื้อขายต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังซาอุฯ วางแผนปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันกว่า 10 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน เม.ย. และปรับลดราคาขาย OSP (Offiical Selling Price) ทั้งนี้หากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าที่พึ่งพิงรายได้จากการขายน้ำมัน อาทิ รัสเซียและตะวันออกกลาง ให้แย่ลง ดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2557-2559 WTI ต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้เราเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาจาก 2 ประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะรัสเซีย หดตัวลงแรงและเป็นระยะเวลานาน  และยังส่งผลกดดันต่อรายได้จากการส่งออกผ่านราคาสินค้าส่งออกให้ปรับตัวลดลงอีกด้วย