เปิดเบื้องลึก เอกชนค้านค่าแรง 400 ต้นทุนเพิ่ม สวนทางกำลังผลิต-ส่งออกลดลง

10 พ.ค. 2567 | 09:34 น.

เปิดเบื้องหลัง ภาคเอกชนค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกำลังผลิตและการส่งออกที่ลดลง

ณ เวลานี้รัฐบาล “เศรษฐา 2” ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการทำงานเพื่อดำเนินตามนโยบายที่หาเสียงไว้รอบทิศ ทั้งนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ที่ต้องทำทุกทางเพื่อแจกเงินให้กับประชาชนได้จริงในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้

ขณะเดียวกัน มีการลาออกของรัฐมนตรีที่ไม่พอใจจากถูกลดตำแหน่ง และการแบ่งงาน ความเห็นต่างกับผู้ว่าแบงก์ชาติเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายการเงินที่ถูกมองเป็นการแทรกแซงการทำงาน ล่าสุดมีประเด็นดราม่า เรื่องข้าวเก่าค้างสต๊อก 10 ปีกินได้หรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องสำคัญที่อาจนำสู่ความขัดแย้งกับภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจปากท้อง เมื่อผู้บริหารหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมกับ 54 สมาคมการค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น ตามด้วยที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ได้ออกมาคัดค้านการเตรียมปรับขึ้นค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่า ที่รัฐบาลประกาศจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลาคมนี้

ภาคเอกชนให้เหตุผลสำคัญของการคัดค้านครั้งใหญ่นี้ว่า การปรับค่าแรงขั้นตํ่าเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ เป็นการปรับเกินกว่าพื้นฐานสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต ต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการให้บริการ และราคาสินค้าตามมา ทั้งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นที่มีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงภาคเกษตร ภาคการค้าและบริการ โรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ ซึ่งในรายที่สายป่านไม่ยาวอาจมีการลดขนาด หยุดกิจการ และอาจนำไปสู่การปลด / เลิกจ้างลูกจ้าง หรือพนักงานตามมา นอกจากนี้จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศ

เปิดเบื้องลึก เอกชนค้านค่าแรง 400 ต้นทุนเพิ่ม สวนทางกำลังผลิต-ส่งออกลดลง

ทั้งนี้มีข้อเสนอที่สำคัญคือ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าควรพิจารณาปรับปีละครั้ง และการปรับให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นตํ่ารายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ตามอัตราเงินเฟ้อ อัตราการเติบโตของ GDP ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและประสิทธิภาพของแรงงาน เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดและเติบโตไปข้างหน้า โดยภาคเอกชนจะทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และขอเข้าพบในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ เพื่อแสดงจุดยืน และขอหารือถึงแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

ปรากฏการณ์ที่ภาคเอกชนได้ออกมาคัดค้านในลักษณะดับเครื่องชนต่อการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าในครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดา เพราะถือเป็นการคัดค้านครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของภาคเอกชน เพื่อปรามภาคการ เมืองไม่ให้ชี้นำการปรับขึ้นค่าแรงเพื่อสร้างคะแนนเสียงตามอำเภอใจ เพราะสุดท้ายแล้วผู้ที่ต้องแบกรับภาระนี้คือนายจ้าง

นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความอึดอัดที่มีต่อนโยบายรัฐบาล เพราะแค่ครึ่งแรกของปีนี้รัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าไปแล้ว 2 รอบ คือรอบ 1 มกราคม และรอบ 13 เมษายน 2567 หากจะปรับขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันอาจไปไม่รอด

สอดคลองกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม(MPI) เดือนมีนาคม  2567 ที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 โดยอัตราการใช้กำลังผลิตโดยรวมของผู้ประกอบการอยู่ที่ 62% แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทย ขณะที่ตัวเลขการส่งออกช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ในหลายกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นตัวเลขยังติดลบ เช่น ยางพารา -35%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง -17%, ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง -12%, นํ้าตาลทราย -32% สินค้าประมง -9%, ผลไม้กระป๋องและแปรรูป -17%, รองเท้าและชิ้นส่วน -11% เป็นต้น

ดังนั้นข้อมูลการใช้กำลังผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังโงหัวไม่ขึ้น และการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังติดลบข้างต้น ย่อมเป็นเหตุและผลสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนได้ออกมาคัดค้าน และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลต้องนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบ หากจะเร่งปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ว่า "จะได้คุ้มเสีย"  และจะชะลอการปรับขึ้นค่าแรงออกไปหรือไม่