สายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อสะดุด! แผนบริหารไม่คืบหน้า

10 มี.ค. 2563 | 04:48 น.

รถไฟฟ้าสายสีแดง-สถานีกลางบางซื่อ ชะลอให้บริการ เดินรถ หลังแผนงานหลายด้านไม่คืบหน้า ขณะที่รัฐยังไม่เห็นชอบ หากแผนล่าช้า ส่อกระทบการเดินรถรถไฟสายสีแดงเปิดให้บริการ ปี 64

 

 

 

 

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า แผนการเปิดให้บริการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-ศาลายา รวมถึงสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2564 มีความเสี่ยงที่จะล่าช้ากว่าเป้าหมาย เนื่องจากงานหลายด้านยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร โดยเฉพาะการเปลี่ยนพันธกิจของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด จากผู้บริหารการเดินรถรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ให้เป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดและยังไม่ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

"หากเรื่องดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ จะทำให้การฝึกอบรมบุคลากรของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ไม่ทันกับเป้าหมายและกระทบต่อการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่งผลให้การรถไฟฯ และกระทรวงคมนาคมอาจจะต้องหาแผนสำรองเพื่อแก้ปัญหานี้"

 

รายงานข่าวจากร.ฟ.ท. กล่าวอีกว่า การรถไฟฯ ยังไม่ได้สรุปแนวทางการบริหารสถานีกลางบางซื่อและเปิดประมูลหาเอกชนร่วมทุน (PPP) ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถเปิดบริการสถานีกลางบางซื่อได้อย่างเต็มรูปแบบในเดือนมกราคม 2564 ตามเป้าหมาย

 

“งานก่อสร้างมันเสร็จแน่ แต่ที่น่ากลัวคืองานบริหารที่ยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งตอนนี้ไม่มีเวลาเหลือแล้ว ถ้ามองโลกในแง่ดีเดือนมกราคม 2564 การรถไฟฯ จะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงได้แบบ Soft Opening คือจำกัดเวลาและจำนวนผู้โดยสาร ส่วนกำหนดเปิดเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการก็อาจจะเลื่อนออกไปเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในต้นปี 2564”

 

อย่างไรก็ตามด้านการก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้าไปมากและไม่น่าเป็นห่วง โดยล่าสุดสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ ศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟทางไกล และสัญญาที่ 2 งานก่อสร้างทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต จะแล้วเสร็จ 100% ในเดือนเมษายน 2563 หรืออย่างช้าไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ สัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟ สำหรับช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งมีกำหนดต้องแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 แต่ปัจจุบันยังล่าช้ากว่าแผน 30% โดยผู้รับจ้างจากประเทศญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า ก่อนหน้านี้สายการผลิตได้รับผลกระทบจากพายุและล่าสุดยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้การนำเข้าอุปกรณ์บางชนิดล่าช้า