‘โคโรนา’ ถล่มซ้ำ ฉุดกำไรบจ.3หมื่นล้าน

01 มี.ค. 2563 | 13:40 น.

ผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย)ฯ หรือ KTBS เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในปีนี้ (2563) คาดกำไรบจ.เบื้องต้นที่ 9.52 แสนล้านบาท โต 7% จากปี 2562  คิดเป็นกำไรต่อหุ้นหรือ EPS ที่ 91.3 บาทต่อหุ้น โดยยังไม่รวมผลกระทบจากไวรัสโคโรนา ซึ่งคาดจะฉุดกำไรบจ.ลงอีก 3% หรือเบื้องต้นที่ 30,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ

ทั้้้งนี้ประมาณกำไรของบจ.ปีนี้ที่ 9.52 แสนล้านบาท เป็นการปรับลดจากเดิมที่ 9.80 แสนล้านบาท หรือลดลง 2.8 หมื่นล้านบาท จาก EPS เดิมที่ 94.8 บาทต่อหุ้น โดยเซ็กเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมากสุดได้แก่ 1. กลุ่มนํ้ามันปิโตรเคมี จาก Stock loss ราคานํ้ามันดิบเบรนต์ที่ปรับลดประมาณ 20% และธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว ได้แก่ สายการบิน สนามบิน กลุ่มธุรกิจโรงแรม รวมถึงกลุ่มค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ กลุ่มธนาคาร กลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย คาดว่าจะได้รับผลกระทบในไตรมาส 2 ส่วนกลุ่มที่ได้อานิสงส์ ได้แก่ กลุ่มประกัน กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่า อาทิ กลุ่มส่งออก กลุ่มชิ้นส่วนและอิเล็กทรอนิกส์

บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) จก. ระบุว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวเพียง 2.0% และมีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ 0.75% ในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ โดยกรณีเลวร้ายอาจจะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ 0.50% ในการประชุมเดือนพฤษภาคม 2563

‘โคโรนา’ ถล่มซ้ำ ฉุดกำไรบจ.3หมื่นล้าน

บล.เคจีไอฯ คาดกำไรบจ.ปี 2563 น่าจะลดลง 6-14% หุ้นกลุ่มที่ถูกกระทบโดยตรงคือกลุ่มท่องเที่ยว (โรงแรม) ในขณะที่หุุ้นสายการบินจะถูกกระทบจากอุปสงค์ที่ลดลงแต่ด้วยราคานํ้ามันเครื่องบินที่ลดลงในช่วงนี้ จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อกำไร ส่วนกำไรกลุ่มธนาคารคาดจะกระทบ 12% จากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง และการลดดอกเบี้ยลงอีก นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับลดประมาณการกำไรของหุ้นกลุ่มโรงกลั่นลงอีก ซึ่งไม่ได้ถูกกระทบจากไวรัสโคโรนาอย่างเดียว ยังถูกผลกระทบจากการฟื้นตัวของธุรกิจโรงกลั่นที่ช้าเกินคาด

ด้านฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส (ASP ) ล่าสุดได้ปรับลดประมาณการกําไรบริษัทจดทะเบียนปี 2563 ลง 9.06 หมื่นล้านบาท เหลือ 8.9 แสนล้านบาท (ลดลง 10%) ส่งผลให้คาดการณ์ EPS ปี 63 เดิมที่ 95.71 บาทต่อหุ้น ลดลงเหลือ 86.17 บาทต่อหุ้น หลัก ๆมาจากการปรับลดในกลุ่มพลังงาน-ปิโตรฯ จาก Spread ปิโตรเคมีที่อยู่ในระดบต่ำ, กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถูกกดดันจากดอกเบี้ยทีอยู่ในระดับต่ำบวกกับสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอจึงมีความเสี่ยงที่จะมีการลดดอกเบียอีกในช่วงที่เหลือของปี, กลุ่ม ICT มีต้นทนจากการประมลคลื่น 5G ที่เพิ่มขึ้น, กลุ่มการบินและท่องเที่ยวเที่ยวมีความเสี่ยงจากโรคระบาด COVID19 หากยืดเยื้อ เป็นต้น

สำหรับผลประกอบการในปี 2562 บจ.ในกลุ่มบิ๊กแคป (SET 50) ที่มีอัตราเติบโตของกำไรสูงสุดและหดตัวมากสุดเมื่อเทียบกับปี 2561 เรียงลำดับได้แก่ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) มีอัตรากำไรสุทธิโตพุ่ง 116%, บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) เติบโต 96% , บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) โต 69% ขณะที่บจ.ที่อัตรากำไรหดมากสุด อาทิ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) กำไรลดลง 80%, บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กำไรสุทธิลด 71% (อ่านจากตารางประกอบเพิ่ม)

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ.2563