ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่

28 ต.ค. 2562 | 05:20 น.

แม้กระแส “ชิม ช้อป ใช้จะป๊อปปูลาร์ แต่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 กลับเบาบาง จบเฟสแรก มีการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 เพียง 200 ล้านบาท หรือถ้าจะเฉลี่ยจากจำนวนคนที่ได้รับสิทธิทั้งหมด 10 ล้านคนนั้น พบว่า มีการใช้เงินจากกระเป๋า 2 เพียงคนละ 2 บาทเท่านั้น ห่างไกลจากที่กระทรวงการคลังขอให้ใช้คนละ 5,000 บาท เพียง 50,000 ราย ก็เพียงพอต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่หวังไว้ว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจได้ 60,000 ล้านบาท

รัฐบาลจึงต้องเข็นชิม ช้อป ใช้เฟส 2 ตามมา โดยเพิ่มอีก 3 ล้านราย ซึ่งไม่เพียงจะได้เงิน 1,000 บาทแล้ว ยังจูงใจให้ผู้รับสิทธิดึงเงินออกจากกระเป๋าตัวเองมาร่วมใช้จ่ายด้วยการคืนเงินหรือ แคชแบ็ก ให้ถึง 20% ให้เป็นส่วนเพิ่มจากการใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท จากเฟสแรก 15% หากใช้จ่าย 30,000 บาทหรือได้คืน 4,500 บาทก็จะเพิ่มอีก 4,000 บาท รวมเป็น 8,500 บาท

 

ทั้งที่รัฐบาลหวังให้เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจให้โตได้ตามเป้าที่ 3% ดังนั้นหากจะต้องการให้ชิม ช้อป ใช้ทั้ง 2 เฟส เป็นไปตามเป้าประสงค์ เม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยกระเป๋าที่ 2 ของประชาชนต้องไม่ตํ่ากว่า 60,000 ล้านบาท

ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่

มีการตั้งข้อสังเกตว่า คนใช้เงินกระเป๋า 2 น้อย ไม่ได้เกี่ยวกับความยากง่ายในการเติมเงินและใช้เงินผ่านแอพพลิเคชัน เป๋าตัง แต่เกิดจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อ หรือไม่มีเงินสดในกระเป๋าเพียงพอที่จะนำมาใส่ในแอพพลิเคชัน จึงทำให้ยอดการใช้ไม่แอกทีฟเท่าที่ควร ซึ่งนาย ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่น่าจะเกิดจากการวางแผนเดินทางของประชาชนและการเจาะกลุ่มจ่ายเงิน 1,000 บาทในเฟสแรกไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการท่องเที่ยวจริงๆ  และเฟส 2 เชื่อว่า คนที่วางแผนท่องเที่ยวแล้วจะอยากใช้สิทธิและเข้ามาลงทะเบียนมากขึ้น เพราะเห็นจากสิทธิที่ได้คราวก่อนแล้ว

ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่

ลวรณ แสงสนิท

 

สศค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงระบบการเติมเงินและการใช้จ่ายในส่วนของกระเป๋า 2 ให้ง่ายขึ้น ทั้งเพิ่มช่องทางเติมเงิน ผ่าน QR Code หรือตัวเลข G-Wallet 15 หลักผ่าน Mobile Banking ของธนาคารต่างๆ

ขณะที่นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองกลับมองว่า แม้ ชิม ช้อป ใช้ ที่ออกมาทั้ง 2 เฟสจะเกิดประโยชน์ในแง่กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ดีขึ้น ชดเชยจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กระทบการส่งออกไทย แต่ไม่สามารถทำให้เห็นผลต่อเศรษฐกิจได้ตามที่รัฐบาลคาด เพราะเม็ดเงินลงสู่ระบบเพียง 60-70% ของ 60,000 ล้านบาทเท่านั้น

ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่

มาตรการนี้จะให้ได้เฉพาะคนที่วางแผนเที่ยวไว้แล้ว เพราะจะเอาเงินส่วนที่ได้จากรัฐไปเที่ยวพอดี ก็เลยได้รับอานิสงส์ นี้ไปด้วย แต่คนไม่คิดวางแผนเที่ยว ก็จะใช้เงินเพื่อจับจ่ายอื่นที่ไม่ใช่ท่องเที่ยว จึงเกิดผลไม่มากนายสมชายกล่าว

ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่

สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

 

ขณะที่อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ เห็นว่า รัฐบาลออกมาตรการชิม ช้อป ใช้เฟส 2 เร็วเกินไป เพราะยังไม่ได้มีการประเมินผลในรอบแรกว่ามีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด ซึ่งควรให้เวลาในการสำรวจดังกล่าวก่อน แต่หากต้องการออกมาตรการเฟส 2 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ควรออกในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้ามากกว่า

ชิม ช้อป ใช้จะเป็นเครื่องมือที่จะดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ตามที่ตั้งไว้ได้หรือไม่ วันที่ 28 ตุลาคม นี้ คงได้รู้กัน เพราะสศค.จะประกาศปรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้อย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,517 วันที่ 27-30 ตุลาคม 2562

                       ชิมช้อปใช้ เครื่องมือดันศก. ลุ้น28ต.ค.ได้ตามเป้าหรือไม่