วัยรุ่น...กลุ่มเปราะบาง ก่อหนี้เสีย ฉุดกำลังซื้อบ้าน

21 ต.ค. 2562 | 23:30 น.

 

จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีสูง 78.8% คนไทยแบกหนี้ร่วม 13 ล้านบาท พุ่งสูงติดอันดับ 2 ของเอเชีย กระจุกตัว หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์ ล่าสุดสถาบันรัฐประสานเสียง ในเวทีเสวนาวิเคราะห์สถานการณ์หนี้ครัวเรือน กับโอกาสการซื้อที่อยู่อาศัยที่จัดโดย ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ระบุ ห่วงกลุ่มวัยรุ่น คนจบใหม่สุด หลังก่อหนี้เร็วเกินตัว หวั่นฉุดกำลังซื้อบ้านหลังแรกในอนาคต แนะวางแผนการเงิน ประเมินศักยภาพตนเองก่อนก่อหนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจรวมยังไม่สดใส

 

อายุ 26-30 ปีเริ่มมองหาบ้าน

มุมสะท้อนนางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์  ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงานทรงคุณวุฒิ รักษาราชการรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติิิ ระบุว่าแม้ระดับหนี้สินครัวเรือนไทยในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 จะชะลอตัวลงลดจาก 6.3% ช่วงไตรมาสแรก มาอยู่ที่ 5.8% แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) แล้ว ยังคงสูงทรงตัวน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบว่า แม้ภาพรวมของหนี้มากกว่าครึ่ง เป็นกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสอดคล้องกับระดับหนี้ในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นหนี้ระยะยาว ดีในเชิงสังคม แต่สัดส่วนที่เหลือ ซึ่งมากเป็น 1 ใน 3 ของหนี้ก้อนโต กลับกระจุกตัวอยู่ในส่วนของสินเชื่อบุคคล ทั้งการซื้อรถยนต์ และหนี้บัตรเครดิต เป็นต้น

 

วัยรุ่น...กลุ่มเปราะบาง  ก่อหนี้เสีย  ฉุดกำลังซื้อบ้าน

 

โดยหนี้กลุ่มดังกล่าว มีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นการผ่อนจ่ายในระยะสั้น หากไม่มีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอ มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียได้ รวมถึงจะมีผลต่อการยื่นขอสินเชื่อกลุ่มที่อยู่อาศัยหลังแรกในอนาคตด้วย หลังจาก พบว่า แนวโน้มการซื้อบ้านของคนในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากอดีต ซึ่งจะเริ่มมองหาบ้านในช่วงอายุ 31-40 ปีขึ้นไป

แต่ปัจจุบันพบกลุ่มคนวัย 26-30 ปี เริ่มมีการก่อหนี้ ยื่นกู้สินเชื่อบ้านมากขึ้น ขณะที่ศักยภาพของผู้กู้ยังไม่มีความพร้อมในการผ่อนจ่าย ท่ามกลางระดับราคาบ้านที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

น่าเป็นห่วง การซื้อบ้านตั้งแต่อายุยังน้อย ที่ไม่คำนึงถึงศักยภาพการจ่าย ว่าไหวหรือไม่ เพราะเมื่อเทียบกับราคาบ้านที่เพิ่มขึ้น มันเกินกว่าการเติบโตของจีดีพี และรายได้ของคนไทยด้วยซํ้า

 

 

ส่วนใหญ่ไม่มีการออม

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุเสริมว่า ภาวะหนี้ครัวเรือน มีความสัมพันธ์กับการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมาก พบปัญหาใหญ่ของคนไทย คือไม่มีการออม ประกอบกับพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว จากอดีต 5 ปีก่อน คนไทยมีการออมระดับ 15% ของรายได้ ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 10% เท่านั้น โดยจำนวนประชากรคนไทยรวมกว่า 60 ล้านคน แต่มีจำนวนคนที่เป็นหนี้มากถึง 21 ล้านคน และมูลค่าหนี้ไต่ระดับเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ จาก 3.7 แสนบาทต่อคน มาอยู่ที่ 5.5 แสนบาทต่อคน สะท้อนคนไทยมีหนี้เยอะขึ้น และที่น่ากังวลคือ ระดับอายุคนก่อหนี้ตํ่าลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะแนวโน้มในกลุ่มคนอายุตํ่ากว่า 30 ปี กลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลุ่มเปราะบางของระบบ ซึ่งเงินที่เหลือน้อยลงย่อมกระทบต่อกำลังซื้อในการใช้จ่ายภาคต่างๆ โดยเฉพาะ ภาคที่อยู่อาศัย ซึ่งมีความจำเป็นต้องการใช้ชีวิตที่มั่นคง

สมมติมีเงิน 100 บาท แต่ละเดือนต้องจ่ายหนี้บัตรแล้ว 42% จะซื้อบ้านก็ไม่มีกำลังซื้อ ยิ่งเด็กจบใหม่ คาดการณ์ได้เลยว่า อนาคตการมีบ้านหลังแรกจะยากขึ้น

 

ขณะที่ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังฉายภาพภาวะเศรษฐกิจไทยว่ายังอยู่ในจังหวะชะลอตัว การลงทุนลดน้อยลง จากสัดส่วน 40% ของจีดีพีในอดีต ปัจจุบันเหลือเพียง 24% เท่านั้น

ทั้งนี้ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก และใช้เวลา เนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครง สร้าง ดังนั้น ต้องอาศัยนโยบายจากหลายภาคส่วน

 

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20-23 ตุลาคม 2562

วัยรุ่น...กลุ่มเปราะบาง  ก่อหนี้เสีย  ฉุดกำลังซื้อบ้าน