สแตนชาร์ตชี้ กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1.25%

11 ต.ค. 2562 | 12:04 น.

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองกนง.หั่นดอกเบี้ยการประชุมพ.ย.นี้เหลือ 1.25% สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ ชี้ นักลงทุนต่างชาติมองโอกาสดอกเบี้ยต่ำลงอีกได้ เหตุโลกเข้าสู่ยุค New Normal ทั่วโลกกำลังลดดอกเบี้ย

นายทิม ลีฬหะพันธ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)เปิดเผยว่า ธนาคารมองว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เดือนพฤศจิกายนนี้ กนง.มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 1.25% จากปัจจุบัน 1.50% เนื่องจากการคงดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้สะท้อนภาวะที่เป็นอยู่และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสต่ำกว่า 1.25% และคาดว่าเดือนธันวาคมก็มีโอกาสปรับลดอีก 1 ครั้งได้

สแตนชาร์ตชี้ กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1.25%

ทั้งนี้ สอดคล้องกับภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติที่ให้ความเห็นจากงานสัมมนาประจำปีของธนาคารว่าไทยมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนสิ้นปีนี้ถึง 80% จากระดับ 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% และมีนักลงทุนอีกจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า ดอกเบี้ยมีโอกาสลดลงต่ำกว่า 1.25% แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ชะลอตัวเท่าวิกฤติแอมเบอร์เกอร์ก็ตาม แต่เนื่องจากโลกเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการเติบโตสู่ New Normal ทำให้โอกาสดอกเบี้ยที่จะต่ำมีความเป็นไปได้ เพราะหลายๆ ประเทศก็อยู่ในทิศทางดอกเบี้ยขาลงอยู่

เช่นเดียวกับธนาคารที่มองว่า มีปัจจัยอยู่ 4 ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีโอกาสลดดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายนนี้คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ 2.8% หรือ 3% ไม่แตกต่างมากนัก แต่ถือว่า ขยายตัวน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนที่ปี 2560 ขยายตัวได้ 4% และในปี 2561 ขยายตัว 4.1% และเงินบาทที่แข็งค่ามาแล้ว 7% แม้ว่าจะไม่ได้แข็งค่าที่สุดในเอเชีย แต่แข็งมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยว

นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะลดดอกเบี้ย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 2 ครั้ง คาดว่าเดือนธันวาคมจะลด 1 ครั้ง ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) คาดว่า จะลดดอกเบี้ยลงอีกเป็นติดลบ 0.6% จากตอนนี้ที่ติดลบ 0.6% ธนาคารกลางออสเตรเลีย(อาร์บีเอ) ลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เหลือ 1.5% หรือธนาคารกลางอินเดียก็ปรับลด และหากดูอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมากไม่ถึง 1% โดยในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ 0.8% ต่ำกว่ากรอบธปท.ตั้งไว้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้หนุนการลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤศจิกายนนี้

ความหวังของนักลงทุนคือการผลักดันงบการลงทุน การเร่งการเบิกจ่าย แต่ก็ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามดู ต่อไปอีก 4 เดือน เพราะมีวาระที่จะต้องเข้าและผ่านสภาถึงจะมีความชัดเจน และนักลงทุนยังคาดหวังคือ อยากเห็นมาตรการด้านการคลังมีบทบาทมากขึ้น เพราะนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพน้อยลงแล้ว และท้ายที่สุดเชื่อว่าลูกบอลจะกลับไปที่นโยบายการเงิน

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท ธนาคารมองว่าระยะสั้น เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ จะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ ที่ระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แม้เงินบาทจะหลุดไปแตะระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าในรอบ 6 ปี ซึ่งมองว่า เป็นการแข็งค่าเกินมูลค่าพื้นฐานไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงมองว่าเงินบาทมีโอกาสปรับฐานบ้างในเดือนธันวาคม โดยจะเห็นเงินบาทกลับมาอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

สแตนชาร์ตชี้ กนง.หั่นดอกเบี้ยเหลือ 1.25%