กางแผน‘ชมพูนุช’ปรับโครงสร้างLH BANK

08 ต.ค. 2562 | 02:15 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หลังเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ได้ราว 3 เดือนนางสาวชมภูนุช ปฐมพร มีโอกาสมาอัพเดตถึงภารกิจให้ฟังว่า 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นช่วงของการทำความเข้าใจองค์กรและคนในองค์กร รวมถึงศึกษาแผนธุรกิจว่า ข้อดีที่ธนาคารเชี่ยวชาญ และข้อที่ธนาคารควรระมัดระวังมีส่วนไหนบ้าง และก็อยากทำให้ LH BANK ทันธนาคารอื่นด้วย โดยจะเห็นว่า ธนาคารใหญ่ทำอะไร  LH BANK ก็ทำด้วย เช่น ดิจิทัล การปล่อยกู้ร่วม (Syndicated Loan) สินเชื่อรายย่อย 

อย่างไรก็ดี ธนาคารจะทำทุกอย่างไม่ได้เหมือนธนาคารขนาดใหญ่ จึงต้องการวางตัวเองเป็น  Niche Bank เป็นธนาคารที่ต้องการเน้น 3-4 อย่างที่ทำแล้วเก่งกว่าธนาคารขนาดใหญ่ คือ 1.อยากเป็นธนาคารที่ส่งมอบคุณภาพที่ดีให้กับลูกค้า (Growth Quality) โดยจะร่วมกับพันธมิตรไต้หวัน ปรับโครงสร้างองค์กร จัดระเบียบใหม่ อาจต้องการคนเพิ่ม และเน้นทำงานให้มากขึ้น จากเดิม 1 คนจะทำงานเป็น 10 อย่าง แต่จะปรับ 1 คน อาจทำงานแค่ 3-4 อย่างเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และดูแลพนักงาน 

ขณะที่ 2.จะเน้นเรื่องของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) เป็นสิ่งที่ CTBC Bank พันธมิตรไต้หวันนำมาให้ธนาคาร ซึ่งได้เริ่มสร้างทีม คาดว่า ภายในไตรมาส 2 ปี 2563 น่าจะพร้อม หากสถานการณ์โลกไม่ร้อนแรง เชื่อว่า เทรดไฟแนนซ์น่าจะไปได้ เพราะการส่งออกและนำเข้ายังเป็นหัวใจสำคัญของไทย และยังมีช่องว่างที่จะให้ธนาคารเข้าไป แต่จะเน้นในส่วนของธุรกิจรายใหญ่ (Corporate) 

กางแผน‘ชมพูนุช’ปรับโครงสร้างLH BANK

ชมภูนุช ปฐมพร

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของลูกค้าขนาดใหญ่ที่มียอดขายตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารจะรักษาสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ 50% ไว้ เพราะจะไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับขนาดสินทรัพย์ธนาคารขนาดใหญ่ จึงจะเน้นเลือกเป็นรายธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มรายกลางที่มียอดขายตั้งแต่ 500-1,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 20% ของพอร์ตธุรกิจขนาดใหญ่ แม้จะเป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง แต่เป็นกลุ่มที่ยังขยายตัวได้ 

ส่วน 3.สินเชื่อรายย่อย จะเห็นว่า หลายธนาคารหันมาเน้นลูกค้าคนรวย แต่ LH BANK จะเน้นลูกค้าที่กำลังจะรวย หรือกลุ่มที่เป็นรุ่น 2 และ 3 ของฐานลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth) เดิมของธนาคาร หรือกลุ่มผู้สูงอายุหรือเกษียณ ซึ่งจะมีอยู่ 2 แบบ คือ กลุ่มที่มีเงินเหลือ และกลุ่มที่มีเงินเหลือแต่ไม่รู้จะแบ่งเงินที่เหลืออย่างไร ธนาคารจะเข้าไปดูกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น และช่วยวางแผนการเงินให้กับลูกค้า

และ 4.ดิจิทัล เป็นเรื่องที่ต้องทำและทิ้งไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพยายามทำฟีเจอร์แอพ พลิเคชันให้เหมือนกับธนาคารแห่งอื่นหมดแล้ว เช่น ฝาก-ถอน โอน-จ่าย ซื้อกองทุน เรียกดูพอร์ต แม้ว่ารูปแบบไม่สวยงาม แต่มีฐานลูกค้าใช้กว่า 1 แสนราย โดยสิ่งที่จะทำต่อไป คือ ร่วมมือกับสตาร์ตอัพเข้ามาช่วยทำแพลตฟอร์มดิจิทัลให้บริการลูกค้า และกำลังอยู่ระหว่างการทำแผนเรื่อง Digital Lending คาดว่าจะเห็นชัดเจนภายในปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 

 

“เราปรับโครงสร้างการทำงานแบบ End to End ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น ไม่หว่านแห แต่จะเป็นสไนเปอร์มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลดไซซ์ของธนาคาร เพราะเล็กอยู่แล้ว แต่จะทำให้คล่องตัวขึ้น เพราะข้อดีคือ เรายังเป็น แบงก์วัยรุ่น อายุ 14 ปี และอยากทำให้ทันคนอื่น แต่ไม่ได้ทำทุกอย่าง เราต้องการเป็น Niche Bank โฟกัสลูกค้าและธุรกิจที่ตัวเองเก่งและทำได้ดี”

สำหรับผลงาน  8-9 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมสินเชื่อปล่อยใหม่ขยายตัวเล็กน้อยประมาณ 5% ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจรายใหญ่ เช่น สหกรณ์ ส่วนสินเชื่อรายย่อยโตไม่ถึง 1-2% ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารชะลอการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย แต่ภายในปี 2563 จะกลับมาปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอีกครั้ง แต่การขยายตัวของปริมาณสินเชื่อจะไม่สูงนัก โดยปีนี้การปล่อยสินเชื่อค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาท 

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในส่วนของรายใหญ่ค่อนข้างมีคุณภาพ โดยที่เอ็นพีแอลภาพรวมทั้งธนาคารอยู่ในระดับ 2% ถือว่าค่อนข้างดี ส่วนหนึ่งมาจากธนาคารมีความระมัดระวังในการเติบโต 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,511 วันที่ 6 - 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562