ชะลอตัว! ครึ่งปีหลัง คอนโดในกทม.เปิดใหม่2หมื่นยูนิต

25 ก.ย. 2562 | 07:58 น.

เน็กซัสชี้แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯช่วงครึ่งปีหลังเปิดใหม่ประมาณ 2 หมื่นหน่วย ดีเวลลอปเปอร์อาจขยับแผนไปเปิดตัวปีหน้า ขณะราคาขายยังคงปรับสูงขึ้นสวนทางภาวะตลาดทรงตัว   

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลตลาดอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมาคาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ตลาดยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว

สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพ พบว่าในไตรมาสที่ 3 มีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ประมาณ 10,500 หน่วย และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีโครงการใหม่เปิดตัวอีกไม่เกิน 10,000 หน่วย โดยพบว่ามีหลายโครงการที่พัฒนาโครงการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดตัวเรียบร้อยแล้ว แต่ยังชะลอดูว่าภาพรวมตลาดจะดีขึ้นหรือไม่ ในกรณีที่ภาพรวมตลาดยังดูทรง ๆ ก็มีแนวโน้มที่จะขยับแผนการเปิดไปเป็นปีหน้า ส่งผลให้ยูนิตใหม่ทั้งปีมีไม่เกิน 45,000 หน่วย ที่ผ่านมาข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์บอกว่า จะเปิดตัวโครงการอีก 290 โครงการ ทั้งคอนโด และแนวราบ แต่ในความเป็นจริงพบว่า ขณะนี้การเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง 30%

ด้านราคาพบว่าสถานการณ์ราคายังคงปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก โดยราคาเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ  ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 อยู่ที่ 143,800 บาทต่อตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.3% จากเมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยที่ตลาดใจกลางเมืองปรับตัวขึ้น 3% อยู่ที่ 238,000 บาทต่อตารางเมตร ตลาดรอบใจกลางเมืองปรับตัวขึ้น 1%  หรือ 114,800 บาทต่อตารางเมตร และตลาดรอบนอกเมืองปรับขึ้นอีก 2% อยู่ที่ 75,000 บาทต่อตารางเมตร ตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่าตลอดปีนี้ ราคาคอนโดมิเนียมจะปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้วไม่เกิน 5-6% ในขณะที่ความต้องการยังคงมาจากผู้ต้องการซื้ออยู่อาศัยจริงที่มีกำลังซื้อเป็นส่วนใหญ่ 

ส่วนคอนโดมิเนียมที่ขายดี และสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ จะอยู่ที่ช่วงราคา 2-5 ล้านบาท  สำหรับคอนโดมิเนียมที่ราคาต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท กลุ่มนี้ถึงแม้จะมีความต้องการมากแต่หนี้สินครัวเรือนและเครดิตของผู้กู้เอง ทำให้ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้  สำหรับตลาดลักชัวรี่และไฮเอนด์ การขายเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยกลุ่มผู้ซื้อคือคนต้องการอยู่จริงเป็นหลัก การโอนกรรมสิทธิ์ไม่มีปัญหามากนักเนื่องจากเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว

สำหรับทิศทางอสังหาริมทรัพย์โค้งสุดท้ายของปี ยังไม่เห็นปัจจัยบวกชัดเจน จากนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล นอกจากการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ทำให้ต้นทุนการกู้เงิน และพัฒนาโครงการถูกลง หากแต่จะเห็นชัดในแง่ของสาธารณูปโภค ได้แก่ การเปิดให้บริการเต็มรูปแบบของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายหัวลำโพง หลักสอง ที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนจากฝั่งธนบุรีสามารถเดินทางเข้าเมืองได้ง่าย เมืองขยายตัวออกไป เปิดโอกาสให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวออกไปในทำเลใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดทำเลในการทำธุรกิจการค้า และการอยู่อาศัยเกิดใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของใจกลางเมืองเก่า ชุมชนเก่า อาทิ เยาวราช วังบูรพา สนามไชย ที่สามารถเชื่อมต่อกับเขตธุรกิจใจกลางเมือง ทำให้ศักยภาพของทำเลที่ดีอยู่แล้วมีมากขึ้นไปอีก ผู้ประกอบการมีการปรับปรุงร้านค้าห้องแถวในบริเวณนั้นใหม่ ทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารและโรงแรม แนวใหม่ขึ้นมากมาย สำหรับโครงการที่อยู่อาศัย ที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้น เราพบว่าขณะนี้                 มีผู้ประกอบการพยายามหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการหลายราย แต่การหาที่ดินย่านนั้นค่อนข้างยากมาก และราคาสูง  ดังนั้น ลักษณะการพัฒนาจึงเป็นการลงทุนเพื่อการพาณิชย์มากกว่า