อสังหาฯปรับตัว "มิกซ์ยูส" มาแรงแซงทางโค้ง

25 ก.ย. 2562 | 07:50 น.

อสังหาฯปรับตัว "มิกซ์ยูส" มาแรงแซงทางโค้ง

อสังหาฯปรับตัว "มิกซ์ยูส" มาแรงแซงทางโค้ง

นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดอสังหาฯไทยโดยรวมว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลตลาด ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา คาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 ตลาดยังคงอยู่ในภาวะทรงตัว แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ารูปแบบการพัฒนาโครงการที่เป็นกระแสมาแรงในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ คือ โครงการประเภทมิกซ์ยูส  คาดมีแนวโน้มโครงการลักษณะดังกล่าวจะเกิดขึ้น บูมตลาดยาวไป จนถึงปีหน้าและอนาคต เนื่องจากความสะดวกสบาย ในแต่ละส่วนที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ในหนึ่งโครงการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างครบ ทั้งรีเทล ขนาดไม่ใหญ่มาก เดินกำลังสบาย คนอยู่อาศัยก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่สำนักงานมีรีเทล และยังติดรถไฟฟ้า เช่น โครงการที่เพิ่งเปิดตัวไปอย่างเป็นทางการ คือ สามย่านมิตรทาวน์ ที่มีทั้งคอมมูนิตี้มอลล์ สำนักงาน โรงแรม คอนโดมิเนียมลิสต์โฮลด์ และสถานที่จัดการประชุมขนาดใหญ่ใจกลางเมือง

โครงการสามย่านมิตรทาวน์ที่เพิ่งเปิดตัวไป ถือว่ากระแสกำลังมาแรง เพราะผู้พัฒนาโครงการได้ใส่สิ่งอำนวยความสะดวก และร้านค้าเข้าไปอย่างครบครัน ทำให้เป็นที่สนใจของกลุ่มคนในย่านนั้น และโครงการที่คล้าย ๆ กันในละแวกเดียวกันก็เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น โครงการจามจุรีสแควร์ ก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน อนาคตที่น่าสนใจก็เช่น I’m Chinatown , ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค (Dusit Central Park) หรือ เมกะโปรเจค (Mega Project) อย่าง  One Bangkok เป็นเทรนด์ในอนาคตแน่นอน

นลินรัตน์ ยังกล่าวถึงการปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาฯว่า การเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นเป็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงต่อจากนี้ คือ การขยับ Sector จากคอนโดมิเนียม มาเป็นบ้านแนวราบ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการเริ่มหาที่ดินเพื่อทำโครงการ ลีสโฮลด์และมิกซ์ยูส เพื่อผสมผสานผลตอบแทนจากการลงทุนทั้งระยะสั้น และระยะยาวให้เหมาะสมที่สุด การพัฒนาโครงการในทำเลต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบ EEC เห็นหนาตามากขึ้น ผู้พัฒนารายใหญ่เริ่มแบ่ง Portfolio ไปลงทุนแถวนั้นมากขึ้น แต่ละจังหวัดก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็น ชลบุรี ระยอง หรือ ฉะเชิงเทรา   

 

 

นอกจากนี้ สถานการณ์ในเชิงมหภาค พบว่า การที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้น ในแง่เงินลงทุนจากต่างชาติ จะมีการชะลอตัวลงในขณะเดียวกัน ก็เป็นการปรับแผนเพื่อเพิ่มโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศสำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทยเช่นเดียวกัน สรุปแล้ว สำหรับทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าหลายๆ บริษัทต้องเร่งระบายสินค้าที่มี และปรับแผนการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ระยะยาวมากขึ้น เช่น การลงทุนในธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน หรือลงทุนในต่างประเทศ การขายที่ดินบางแปลงที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากบริษัท หรือแม้แต่ในที่ดินที่ซื้อมาแล้วก็อาจปรับแผนพัฒนาโครงการจากตลาดที่อยู่อาศัยเพื่อการขาย เป็นตลาดเพื่อการลงทุนระยะยาวมากขึ้น  หรือชะลอการพัฒนาโครงการออกไปก่อน

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของผู้บริโภคและการพัฒนาโครงการ การสร้างให้พฤติกรรมผู้บริโภคมีวินัยในการบริโภค มากยิ่งขึ้น ให้เห็นลำดับสำคัญก่อนหลังของสินค้าที่ควรจะซื้อ จะทำให้ตลาดสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง  Market Sentiment ก็มีความสำคัญ หากทุกคนพูดว่าไม่ดี ก็ไม่มีใครกล้าซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้งที่จริง ๆ แล้ว ความต้องการที่อยู่อาศัยยังคงมีในทำเลที่ดี และในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้บริโภค สามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ สำหรับตลาดบ้านมือสองเป็นตลาดกลุ่มใหญ่ ยังคงไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากนัก ดังนั้น หากรัฐมีมาตรการเข้ามาช่วย เช่น เรื่องภาษีโอนหรือภาษีธุรกิจเฉพาะของบ้านมือสองก็จะช่วยให้ตลาดเติบโตได้ดี