อสังหาระทม ตลาดถดถอย 16 ค่ายใหญ่กำไรร่วง

22 ก.ย. 2562 | 23:30 น.

 

สถานการณ์เศรษฐกิจโลก สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯไม่คลี่คลาย สร้างความผันผวน ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และกระทบเป็นห่วงโซ่ลามมาถึงกำลังซื้อของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนไหว ประกอบกับ ปัจจัยภายในรัฐออกกฎเข้มควบคุมสินเชื่อเกิดใหม่ เพื่อหวังดูแลโครงสร้างหนี้โดยรวมส่งผลให้ลูกค้าคนไทยหดหาย ขณะที่ลูกค้ากลุ่มต่างชาติชะลอการลงทุนจากความน่าสนใจที่น้อยลง และเม็ดเงินที่ถูกค่าเงินบาทแข็งกดดันจ่ายเพิ่ม

 

ครึ่งปีแรกชะลอตัว11%

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ในภาวะชะลอตัวลงประมาณ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการขยายตัวของการซื้อและการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงไตรมาสแรกอย่างคึกคัก ก่อนลดลงฮวบในช่วงหลังเข้าเดือนเมษายน ซึ่งมีการเริ่มใช้มาตรการควบคุมสัดส่วนการให้สินเชื่อบ้านต่อมูลค่าหลักประกันบ้าน(แอลทีวี) เพื่อควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ขณะเดียวกัน คาดตัวเลขในช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 คงอยู่ในระดับที่ลดตํ่าลงจากปีก่อนเช่นกัน ประเมินทั้งปีติดลบประมาณ 7% โดยตลาดคอนโดฯ ได้รับผลกระทบมากกว่าโครงการแนวราบ คาดทั้งปียอดโอนกรรมสิทธิ์ในตลาดคอนโดฯ จะติดลบที่ประมาณ 14% ส่วนแนวราบติดลบ 4% ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่ซัพพลายคงเหลือของทั้งตลาด ยังไม่อยู่ในขั้นโอเวอร์ซัพพลาย หลังจากเมื่อเก็บข้อมูลแล้ว พบว่าการย่อตัวลงของตัวเลขปีนี้ โดยเทียบยอดโอนกรรม สิทธิ์ทั้งหน่วยและมูลค่า กลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2560แสดงว่าไม่ได้ตํ่าจนน่ากลัว

อสังหาระทม ตลาดถดถอย  16 ค่ายใหญ่กำไรร่วง

จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังขายได้แต่ช้า ทำให้แม้มีการประกาศแผนลงทุนต่อเนื่อง แต่กำหนดเปิดตัวโครงการใหม่ถูกยืดออกไป เพื่อรอระบายสต๊อกเก่าตลาดคอนโดฯ เอง ลูกค้ากลุ่มนักลงทุนจีนหายไปมาก

 

 

16 ค่ายใหญ่กำไรร่วง

ขณะนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัสฯ  กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดอสังหาฯ ปัจจุบันในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 16 บริษัท ผลกำไรช่วงครึ่งปีแรกโดยรวมลดลง 15-16% จากยอดขายที่ลดลง แต่รายจ่ายคงที่หรือเพิ่มขึ้น คาด เพราะดีมานด์บางส่วน เช่น กลุ่มเก็งกำไร ซื้อลงทุนหายไปประมาณ 30% อีกด้านมาจากภาวะชะลอโดยธรรมชาติจากภาวะเศรษฐกิจ จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2562 จะเหลือมูลค่าประมาณ 3.12 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีมากถึง 3.54 แสนล้านบาท ส่วนคาดการณ์มูลค่าโครงการใหม่ทั้งปี เดิมน่าจะอยู่ที่ 4.4 แสนล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือแค่ 3.7 แสนล้านบาท จากการที่หลายบริษัทปรับแผนดำเนินธุรกิจและชะลอเปิดโครงการใหม่ที่มีความเสี่ยงออกไปก่อน ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงผู้ประกอบรายกลาง-เล็ก ถึงภาระหนี้ที่ต้องอุ้มสต๊อกสินค้าคงค้างจากภาวะขายช้า อาจต้องหาแหล่งเงินทุนสำรองเพิ่มเติมซึ่งเป็นเรื่องยากในการเข้าถึงสินเชื่อ ส่วน ฐานะการเงินของรายใหญ่ ไม่น่ากังวล เพราะยังมีทุนมากกว่าหนี้ เป็นอาการคล้ายคนสะอึก ไม่ใช่ป่วยวิกฤติ

 

หากคำนวณจาก 12 บริษัทชั้นนำ พบอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการรวม 5 แสนล้านบาท บวกกับของใหม่อีก น่าจะแตะ 8 แสนล้านบาท คาดจะใช้เวลาดูดซับ 2-3 ปี สถานการณ์ยังไม่ดี ฉะนั้นผู้ประกอบการควรจะถอยแผนอีก 2-3 สเต็ป น่าจะอยู่ในจุดสมดุลได้ ที่สำคัญต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มก่อนวิกฤติ

พร้อมแนะว่า กลยุทธ์การอยู่รอดของผู้ประกอบการในยุคนี้ ที่สามารถจะรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดได้ดีที่สุด คือ การหาพันธมิตรร่วมลงทุน (JV) เพราะใช้เงินทุนน้อย ไม่ต้อง แบกภาระหนี้ และการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะสามารถตัดกำลังคู่แข่งได้ พบรูปแบบการพัฒนาโครงการเช่นนี้ กำลังเป็นที่นิยม สะท้อนจากยอดแบ็กล็อก (ยอดขายรับรู้รายได้) 3.3 แสนล้านบาท สิ้นไตรมาส 2 เป็นส่วนของ JV มาก ถึง 1.32 แสนล้านบาท

 

หน้า 27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,507 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

อสังหาระทม ตลาดถดถอย  16 ค่ายใหญ่กำไรร่วง