โรงไฟฟ้าชุมชนฟัน3เด้ง

16 ก.ย. 2562 | 23:45 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วิสาหกิจชุมชน เตรียมเฮ“สนธิรัตน์” เร่งปั้นโมเดลโรงไฟฟ้าชุมชน สร้างรายได้ 3 เด้ง ทั้งขายวัตถุดิบ เงินปันผลถือหุ้น ส่วนต่างค่าไฟฟ้า FiT คาดสิ้นปีได้เห็นโครงการนำร่องเอกชนลงทุนให้ก่อน 100%

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 11 กันยายน ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบกรอบโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้เพิ่มให้กับวิสาหกิจชุมชน ที่กำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 โดยมอบคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จัดทำรายละเอียดรูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อนำกลับมาเสนอกพช.อีกครั้งที่กำหนดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไม่เกินปี 2565 โดยมอบให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จัดทำรายละเอียดรูปแบบการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อนำกลับมาเสนอกพช.อีกครั้ง

ทั้งนี้ กรอบแนวทางเบื้องต้น จะมีการแก้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข ระเบียบการนำเงินจากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และเงินจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้ามาใช้สนับสนุนชุมชน พร้อมทั้งเปิดทางให้บริษัทลูกของ 3 การไฟฟ้า เข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าหรือให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ในโรงไฟฟ้า 4 ประเภท ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าไฮบริด โดยคาดว่าโครงการนำร่องแห่งแรกน่าจะเกิดขึ้นได้ก่อนสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังมีนโยบายที่จะให้ชุมชน เข้าถึงพลังงานมากขึ้น โดยจะสนับ สนุนให้เกิดพลังงานชุมชน ที่จะนำร่องให้ที่อยู่อาศัยติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผลิตไฟฟ้าใช้เองและเหลือขายเข้าระบบ โดยจะเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้ามากขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การศึกษารูปแบบของโรงไฟฟ้าชุมชนมีความคืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ น่าจะเห็นรูปแบบและนำไปสู่โครงการนำร่องได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรูปแบบการดำเนินงานนั้น จะให้วิสาหกิจชุมชนและภาคเอกชน ร่วมกันยื่นข้อเสนอเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตามศักยภาพของพลังงานที่มีอยู่ในชุมชน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าชีวภาพ และโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงผสมผสานร่วมกัน(ไฮบริด) ขนาด 1-3 เมกะวัตต์

ขณะที่การลงทุนนั้นจะกำหนดให้ภาคเอกชนลงทุนให้ก่อน 100% ภายหลังจากเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าแล้ว ชุมชนจะเข้ามารวมทุนได้ในสัดส่วน 30-40% ซึ่งเงินที่นำมาลงทุนนั้น อาจจะมาจากการกู้เงินผ่านโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือการสนับสนุนเงินจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ที่เข้าร่วมโครงการ จะพิจารณาจากโครงการที่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิค และมีข้อเสนอผลตอบแทนให้กับชุมชนมากที่สุด เรียงตามลำดับจนครบตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบจะกำหนดเป็นอัตรารับซื้อแบบ FiT หากเอกชนเสนอมาในราคาที่ตํ่ากว่าจะได้รับการคัดเลือก เช่น กรณีของโรงไฟฟ้าชีวมวลรับซื้อไฟฟ้าที่ 4.24 บาทต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพที่ 5.34 บาทต่อหน่วย หากเอกชนเสนอค่าไฟฟ้ามาตํ่ากว่า 1 บาทต่อหน่วยก็จะได้รับการคัดเลือก เป็นต้น

ดังนั้น ชุมชนจะมีรายได้มาจาก 3 แนวทาง โดยประเภทโรงไฟฟ้าชีวมวล ชุมชนจะมีรายได้จากการขายไม้สับ ที่มาจากการปลูกไม้โตเร็ว หรือเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น แกลบ ฟางข้าว เหง้ามันสำปะหลัง ทะลายปาล์ม เปลือกไม้ เป็นต้น หากเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ชุมชนจะมีรายได้จากการปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์ ข้าวโพด มูลสัตว์ ขายให้โรงไฟฟ้า เพื่อนำไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพผลิตไฟฟ้า รวมทั้งรายได้จากการปันผลที่เข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้า และรายได้จากค่าไฟฟ้าส่วนต่างระหว่าง FiT กับราคาที่เอกชนยื่นขอเสนอเข้ามา โดยยังไม่รวมผลประโยชน์จากกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ที่จะมีเข้ามาสบทบอีกส่วน

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์มนั้น ชุมชนจะมีรายได้เข้มาเพียง 2 ส่วนจากการเงินปันผลที่เข้าไปถือหุ้น และจากค่าไฟฟ้าส่วนต่างระหว่าง FiT ที่เอกชนเสนอมา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการส่งเสริมพลังงานระดับชุมชนนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารูปแบบดำเนินงานนอกเหนือจากการส่งเสริมติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปแล้ว กำลังพิจารณาดูว่า จะเข้าไปส่งเสริมในรูปของพลังงานความร้อน ตามชุมชนที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ นำไปทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจี ในภาคครัวเรือนหรือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงอบพืชผลทางการเกษตร เป็นการลดค่าใช้จ่ายของชุมชน รวมถึงการส่งเสริมในรูปของการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กตั้งแต่ 30-100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ปลายสายส่ง ชุมชนพื้นที่สูง ชุมชนชายขอบ และบนเกาะ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของพลังงานที่แท้จริง และสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3505 วันที่ 15-18 กันยายน 2562

โรงไฟฟ้าชุมชนฟัน3เด้ง