BIM ดิสรัปชันก่อสร้าง พิมพ์เขียวดิจิทัล ของสมาร์ทซิตี

17 ส.ค. 2562 | 23:00 น.

คอลัมน์ผ่ามุมคิด

ยุคนี้กระแสดิจิทัล ดิสรัปชัน กำลังป่วนภาคธุรกิจทั้งหลาย แม้แต่วงการก่อสร้างก็ต้องเตรียมรับมือ ปัจจุบันมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างอาคาร บริษัทด้านการออกแบบ รวมทั้งบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานก่อสร้าง ทั้งด้านเวลาและต้นทุนดำเนินการ ด้วยเทคโนโลยีระบบ BIM หรือ Building Information Modeling เป็นการสร้างแบบจำลองอาคารในระบบ 3 มิติ แทนการเขียนแบบในอดีตที่เป็นระบบ 2 มิติ ทำให้เจ้าของอาคารได้เห็นแบบอาคารเสมือนจริง ที่สำคัญสามารถแก้แบบก่อนก่อสร้างจริงได้ ทำให้ควบคุมค่าใช้จ่ายการก่อสร้างได้

นายอมร พิมานมาศ นายกสมาคมแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Thai Building Information Modeling Association) หรือ TBIM กล่าวว่า ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจก่อสร้างเกือบทุกสาขา ไม่ว่าวิศวกรโครงสร้าง วิศวเครื่องกล สถาปนิก ที่เขียนแบบในระบบเดิมก็ต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เขียนแบบในระบบ BIM ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศมีการใช้ระบบดังกล่าว ในอาเซียนนี้ประเทศสิงคโปร์ถือว่าลํ้าหน้า มีสมาคม BIM และระบบการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ถ้าอาคารใดออกแบบในระบบ BIM หากเป็นอาคารประหยัดพลังงานด้วย อาจจะได้รับการพิจารณาใบอนุญาตรวดเร็วขึ้นกว่าปกติ หรืออาจจะได้ค่า FAR หรืออัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐของไทยควรส่งเสริมให้มีการนำระบบ BIM มาใช้อย่างกว้างขวาง

 

BIM  ดิสรัปชันก่อสร้าง  พิมพ์เขียวดิจิทัล ของสมาร์ทซิตี

อมร พิมานมาศ

 

การที่เราสร้างแบบในระบบ BIM และใช้เทคโนโลยี virtual เข้ามาร่วม ทำให้มองเห็นแบบโครงสร้างอาคารเสมือนเข้าไปในอาคารจริง ได้เห็นถึงรายละเอียดในอาคาร ไม่ว่าประตู ลูกบิด ผนัง ใช้วัสดุประเภทไหน ยี่ห้ออะไร นำไปสู่การวิเคราะห์การใช้พลังงานของห้อง สมัยก่อนยังทำไม่ได้แบบนี้ เนื่องจากคอมพิวเตอร์ยังไม่มีหน่วยความจำที่มีกำลังพอ และไม่เพียงแต่เห็นภาพ 3 มิติ ยังเห็นถึงมิติที่ 4 ,5 และ 6 โดยมิติที่ 4 คือเรื่องของเวลา เพราะเมื่อเป็นภาพ 3 มิติก็สามารถจำลองการก่อสร้าง สามารถคำนวณระยะเวลาการก่อสร้างได้

มิติที่ 5 คือประเมินงบประมาณค่าก่อสร้าง และมิติที่ 6 คือการบริหารจัดการ ระบบบัญชี -การจัดซื้อ และสุดท้ายโยงไปสู่แฟซิลิตี้ แมเนจเมนต์ จะเห็นว่านี่คือ ดิสรัปทีฟอย่างแท้จริง จะเปลี่ยนจากมุมมอง 2 มิติ ไปเป็น 6 มิติ ครอบคลุมทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของเวลา ค่าใช้จ่าย และการบริหารจัดการอาคารในอนาคตด้วย

ขณะนี้มีบริษัทด้านสถาปนิก วิศวกร และดีเวลอปเปอร์ใช้ระบบ BIM ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สร้างแบบจำลอง ทั้งที่จริงๆแล้ว BIM จะเป็นเรื่องของการประสานงาน วิธีคิด ทุกส่วนทำงานร่วมกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ในประเทศไทยยังขาดบุคลากรด้านนี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ

จากการมองเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาดิสรัปต์เกือบทุกสาขา จึงก่อตั้งสมาคมไทย BIM ขึ้น ซึ่งเดิมรวมตัวกันเป็นชมรม โดยมีจุดมุ่งหมายจะผลักดันให้การทำ BIM เป็นวิชาชีพ มีใบรับรอง และจะมีเงินประจำตำแหน่ง ดังนั้นต่อไปเราจะพัฒนาหลักสูตร BIM Coordinator และ BIM Manager เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งภายใน 3 ปีนี้จะเตรียมกำลังคนด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมขึ้นรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

 

 

นอกจากธุรกิจเอกชนแล้ว ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น รฟม. ระบุไว้ในทีโออาร์การประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสายสีเหลือง การออกแบบก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าต้องออกแบบด้วยระบบ BIM ขณะที่การส่งแบบหรือขออนุญาตก่อสร้างนั้น ด้านกฎหมายยังไม่ได้บังคับต้องใช้แบบระบบ BIM ทางสมาคม จึงอยากจะให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบ BIM ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญมากสำหรับภาครัฐในการออกแบบสมาร์ตซิตี เพราะระบบ BIM เป็นฐานข้อมูลแรกสุดของพิมพ์เขียว ดิจิทัลของสมาร์ทซิตี โดยสมาคมจะจัดทำ BIM ไกด์ไลน์เพื่อสร้างมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูล ให้ทุกบริษัทนำแบบอาคารที่ออกแบบด้วยระบบ BIM มาเชื่อมโยง ทำให้สมาคมสามารถสร้างเมืองจำลองขึ้นมาได้

 

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,496 วันที่ 15-17 สิงหาคม 2562

BIM  ดิสรัปชันก่อสร้าง  พิมพ์เขียวดิจิทัล ของสมาร์ทซิตี