พนักงานระส่ำ หลังจบดีลทีเอ็มบี-ธนชาตปี 64

10 ส.ค. 2562 | 04:27 น.

 

 

2 แบงก์“ทหารไทย-ธนชาต”เตรียมขอมติผู้ถือหุ้น 23 ก.ย. ควบรวมกิจการ “ประพันธ์”ลั่น พนักงาน 2 แบงก์ยังทำงาน จนกว่าจะคืนใบอนุญาตในปี 64  “ปิติ”เสริมไม่มีเหตุปลดพนักงาน แม้ฐานลูกค้าเพิ่ม 10 ล้านราย แต่ซํ้าแค่ 10%  ด้านคลัง ยันต้นทุนถือหุ้นลดจาก 3.68 บาทเหลือ 2.81 บาท ยันมีบทบาทกำกับดูแลธนาคารใหม่

ในที่สุดความพยายามของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังที่มุ่งยกระดับธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคและอาเซียน ด้วยการเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้นผ่านการควบรวมกิจการก็มาถึงข้อสรุป สำหรับการควบรวมกิจการระหว่างธนาคาร ทหารไทย(ทีเอ็มบี)กับธนาคาร ธนชาต(TBANK) ทำให้มีสินทรัพย์รวม 1.9 ล้านล้านบาท ขึ้นเป็นอันดับ 6 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งทั้ง 2 ธนาคารเองต่างก็เคยผ่านการควบรวมกิจการมาแล้วทั้งสิ้น

โดยเฉพาะช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีสถาบันการเงินต้องปิดกิจการหลายแห่ง ช่วงนั้นธนาคารไทยทนุ ต้องขอความช่วยเหลือจากธนาคาร ดีบีเอส ในเครือเทมาเส็ก โฮลดิ้งให้เข้ามาถือหุ้นใหญ่และเปลี่ยนชื่อเป็นดีบีเอส ไทยทนุในปี 2542 จากนั้นได้เข้าควบรวมกิจการกับทหารไทยพร้อมกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที)ในปี 2547 และดึงกลุ่มไอเอ็นจี แบงก์( ING Group N.V. (ING)จากประเทศเนเธอร์แลนด์มาร่วมถือหุ้นในปี 2550 ขณะที่ธนาคาร ธนชาตเองก็เติบโตจากการควบรวมกิจการเช่นเดียวกัน โดยปี 2542 ได้ควบรวมกับบริษัทเงินทุน(บง.) 5 แห่งคือ บง.เอกชาตฯ บง. เอ็นเอฟฯบค.กรุงเทพเคหะฯ บค.สินเคหะการฯ และบค.วานิชฯ จากนั้นได้ควบรวมกิจการเข้ากับธนาคาร นครหลวงไทยในปี 2553

 

พนักงานระส่ำ หลังจบดีลทีเอ็มบี-ธนชาตปี 64

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการควบรวมกิจการระหว่างทหารไทยและธนชาต จะแล้วเสร็จในปี 2564 โดยธนาคารใหม่จะมีทุนจดทะเบียน 100,912,374,754 บาท โดยมีีโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลักคือ ไอเอ็นจี 21.3% บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) 20.4% กระทรวงการคลัง 18.4% สโกเทียแบงก์(BNS) 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3%  มีพนักงานรวม 1.9 หมื่นคน มีฐานลูกค้า 10 ล้านราย สาขากว่า 900 แห่ง

นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายใต้โครงสร้างใหม่ของธนาคารแห่งใหม่นั้น ผู้ถือหุ้นหลักจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง ทำให้ต้นทุนลดลงจากเดิม 3.68 บาทต่อหุ้นเหลือ 2.81 บาทต่อหุ้น โดยที่กระทรวงการคลังจะใช้เงิน 1.1 หมื่นล้านบาทในการเพิ่มทุนและยังมีบทบาทในคณะกรรมการ(บอร์ด)เพื่อควบคุมการบริหารธนาคารใหม่ไม่เปลี่ยนจากเดิม

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทหารไทย กล่าวเสริมว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ มีฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 10 ล้านราย และมีลูกค้าซํ้ากันไม่ถึง 10% จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะลดพนักงานลง เพราะขณะนี้ทั้ง 2 แห่งเองก็มีงานโหลดอยู่แล้ว ขณะที่อัตราการลาออกแต่ละปีจะอยู่ที่ 10% แค่ไม่ต้องจ้างคนเพิ่ม ก็น่าจะพอ ดังนั้นคนจะ
ต้องเป็นสินทรัพย์ของธนาคารอยู่แล้ว

ทั้งนี้ กระบวนการรวมกิจการครั้งนี้ ทีเอ็มบีจะเตรียมเงินในการซื้อหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตรวมกว่า 1.58 แสนล้านบาท โดยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม 4.25 หมื่นล้านบาท และขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด (พีพี)ไม่เกิน  6.4 พันล้านบาทและขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคารธนชาตอีก 5.76 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นจะเสนอขายตราสารทางการเงิน เพื่อเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 9,600-15,000 ล้านบาทและขายตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2 อีก 15,000 ล้านบาท โดยจะมีเงินสดส่วนเกินจากการปรับโครงสร้างของธนชาต 2-3 หมื่นล้านบาท

 

“ทีเอ็มบีจะจัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 23 กันยายน เพื่อขออนุมัติทำรายการรวมกิจการ การเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นสามัญ ซึ่งหลังจากที่เงื่อนไขบังคับ ก่อนตามสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างทีเอ็มบี TCAP และ BNS สำเร็จลง TCAP และ TBANK ดำเนินการปรับโครงสร้างเสร็จแล้ว โครงการรวมกิจการได้รับความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงจะเข้าสู่กระบวนการรวมกิจการตามขั้นตอนต่างๆ”

 

พนักงานระส่ำ หลังจบดีลทีเอ็มบี-ธนชาตปี 64

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ

นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต ในฐานะหนึ่งในทีมผู้บริหารของธนาคารแห่งใหม่กล่าวว่า ลูกค้าทั้ง 2 ธนาคารจะได้รับสิทธิประโยชน์ดีกว่าเดิม ส่วนพนักงานทั้ง 2 ธนาคารยังทำงานต่อไป  ภายใต้ 2 ธนาคาร 1 ผู้บริหาร ทีมงานต้องร่วมกันวางแผนธุรกิจและพัฒนาทักษะพนักงาน โดยระหว่างนี้ยังไม่มีการปลดพนักงานจนกว่า กระบวนการรวมกิจการแล้วเสร็จกลางปี 2564 และโอนพนักงานธนชาตไปธนาคารแห่งใหม่

นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ธนชาตกล่าวว่า ก่อนควบรวมกิจการธนชาตจะปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อความเหมาะสมและเพิ่มความหลากหลายในธุรกิจ โดย TCAP จะใช้เงิน 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทลูกคืน ทั้งที่ถือหุ้นโดยตรงและทางอ้อม ไม่รวมธนาคาร ธนชาต บริษัทหลักทรัพย (บล.) ธนชาตฯ และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ธนชาตฯ และจะใช้เงินอีก 4.52 หมื่นล้านบาทในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน ทหารไทยตามสัดส่วน และจะมีเงินเหลืออีกราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจอนาคต รวมทั้ง การลงทุนในธุรกิจอื่นหรือซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจเดิมที่มีศักยภาพการเติบโตและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทุนธนชาต

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,495 วันที่ 11 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2562