ควบรวม TMB-TCAP แฮปปี้ ลุยเพิ่มทุนก้อนมหึมา 1.3 แสนล้าน

09 ส.ค. 2562 | 10:43 น.

          TMB ระดมทุนก้อนโต 1.3 แสนล้าน รับการควบรวมกิจการกับทุนธนชาต ขึ้นแท่นแบงก์ใหญ่ขนาด2ล้านล้าน คลังใส่อีก 1 .1 หมื่นล้าน ไอเอ็นจี 1.25 หมื่นล้าน ตามแผนขายบล.ธนชาต ควบรวมบลจ.เข้าด้วยกัน
          ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) เปิดแผนควบรวมกิจการระหว่างกัน ผลักดันขึ้นแท่นธนาคารพาณิชย์อันดับ 6 ของไทย โดย TMB เตรียมระดมทุนใหม่ 130,000 ล้านบาท ด้วยการเพิ่มทุนราว 100,000 ล้านบาท ออกตราสารหนี้เพื่อเพิ่มเงินกองทุนชั้นที่ 1 และ 2 ก้อนมหึมา
          ด้านผู้ถือหุ้นใหญ่และกระทรวงการคลังพร้อมใส่เงินเพิ่มทุน ดันกลุ่ม ING ถือหุ้นที่ 21.3% บมจ.ทุนธนชาต (TCAP)  ถือหุ้น 20.4% กระทรวงการคลัง 18.4% และ Scotia Netherlands Holding B.V. (BNS) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ The Bank of Nova Scotia ถือหุ้น 5.6%  การควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปีนี้กำหนดเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2564
          นายสมเจตน์ หมู่สิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TCAP เปิดเผยว่า ชื่อแบรนด์ใหม่หลังการควบรวม TMB และ TBANK ซึ่งเป็นธนาคารในกลุ่ม TCAP นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจาณาจากคณะกรรมการทั้งสองธนาคาร โดยที่แบรนด์ใหม่ของธนาคารจะต้องเป็นแบรนด์ที่สะท้อนคุณค่าของทั้งสองธนาคาร ซึ่งยังคงต้องรอหลังกระบวนการควบรวมเสร็จสิ้นทั้งหมด 
          อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนธ.ค.2562 กระบวนการขายหุ้นของ TBANK ให้กับทาง TMB  และการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB เพื่อเข้าถือหุ้นใน TMB ในสัดส่วนราว 20% จะแล้วเสร็จ ขณะที่การควบรวมทั้งสองธนาคารคาดว่า จะเสร็จสิ้นทั้งกระบวนการภายในกลางปี 2564
          นายสมเจตน์ชี้แจงว่า ตามแผนแล้วจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่ม โดยจะซื้อหุ้นของบริษัทลูกกลับคืนมา ได้แก่ บมจ.ธนชาตประกันภัย ,บล.ธนชาต ,บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด (บสส.ทีเอส) ,บมจ.ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี (PRG) และบมจ.เอ็ม บี เค (MBK)  สำหรับการลงทุนอื่น ๆ บริษัทได้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) ประกอบด้วย SPV1 และ SPV2 เพื่อซื้อหุ้นที่ถืออยู่ในสัดส่วนของ ธนาคารธนชาต กลับมายังบริษัท TCAP อาทิเช่น บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และบริษัทลงทุนอื่น ๆ 

          ทั้งนี้ ภายหลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ TBANK จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใน บลจ.ธนชาต (TFUND) และบริษัท ธนชาต โบรกเกอร์ จำกัด (TBROKER) ในสัดส่วน 75% และ 100% ตามลำดับ หลังจากนั้น TBANK จะขายหุ้น 75% ใน TFUND ให้แก่บุคคลภายนอก โดยคาดว่า จะสามารถขายหุ้นดังกล่าวได้สำเร็จก่อน หรือพร้อมกับการซื้อขายหุ้นระหว่างทั้ง 2 ธนาคารในครั้งนี้
          ขั้นตอนต่อไปหลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทแล้วเสร็จ ทาง TMB จะเสนอซื้อหุ้นสามัญของ TBANK จากผู้ถือหุ้นของ TBANK ทุกราย โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสด และ TCAP กับ BNS ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TBANK จะเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ TMB รวมถึงเข้าซื้อส่วนที่ TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK เพื่อให้ TCAP เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ TBANK ต่อไปในภายหลัง โดย TCAP พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของทีมผู้บริหารชุดใหม่ เพื่อให้กระบวนการรวมกิจการสำเร็จด้วยดี
          นายสมเจตน์ กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นการขายหุ้น TBANK ให้กับ TMB และการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ TMB แล้วเสร็จ บริษัทประเมินว่า จะมีเงินเหลือจากดีลดังกล่าวกว่า 10,000 ล้านบาท จากเงินที่ได้รับเข้ามาทั้งหมดราว 80,000 ล้านบาท บริษัทจะนำเงินที่เหลือไปพิจารณาการลงทุนอื่นๆ ในอนาคต พร้อมกับการพิจารณาจ่ายเงินปันผลพิเศษให้กับผู้ถือหุ้นของ TCAP 
          สำหรับ บล.ธนชาต ซึ่งเป็นธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นั้น ไม่ได้มีการขายไปให้กับ TMB ในการควบรวมกิจการกันครั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ที่สนใจซื้อ และคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆนี้
          ด้านทิศทางของ BNS ที่ยังมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 5.6% หลังการควบรวมในครั้งนี้ บริษัทยังต้องรอดูการประกาศนโยบายและแผนการลงทุนของกลุ่มโนวา สโกเทีย ที่จะมีการประกาศออกมาที่แคนาดาในเร็ว ๆ นี้ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจากที่ทราบกันว่ากลุ่มโนวา สโกเทีย มีแผนการลงทุนที่จะย้ายศูนย์กลางทางการเงินไปที่อเมริกาใต้ ทำให้มีการทยอยถอนการลงทุนในภูมิภาคอื่น ๆ ออกไป 
          อย่างไรก็ตาม บริษัท TCAPและ TMB ได้มีการทำข้อตกลงกับกลุ่มโนวา สโกเทีย ไว้ว่า ในกรณีที่ต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้น ทางกลุ่มโนวาฯจะต้องทยอยลดสัดส่วนลงไป ไม่ใช่เป็นการขายหุ้นออกไปทั้งหมด เพื่อทำให้ไม่กระทบต่อผู้ถือหุ้นของ TMB
          ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า ธนาคารจะมีการขายหุ้นของบลจ.ธนชาต ซึ่งธนาคารธนชาตถือหุ้นอยู่ 75% ให้กับ Eastspring Investment ซึ่งเป็นพันธมิตรกับธนาคาร และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ซึ่งธนาคารได้ทำ MOU ในการขายหุ้นของบลจ.ธนชาต หลังจากกระบวนการโอนกิจการของบลจ.ธนชาตเข้ามาแล้ว ซึ่งคาดว่ากระบวนการขายหุ้นบลจ.ธนชาตให้กับ Eastspring Investment จะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ และหลังจากนั้นจะควบรวมกับบลจ.ทหารไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่เหมือนกัน
          นายปิติกล่าวว่า พนักงานของธนาคารธนาคารไทยและธนาคารธนชาตนั้น ธนาคารเห็นว่า ดีลในการควบรวมครั้งนี้ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานมาเป็นกำลังในการดำเนินงานและช่วยขับเคลื่อนธนาคารต่อไป ซึ่งหลังจากการควบรวมทั้งสองธนาคารแล้ว จะมีขนาดสินทรัพย์ที่สูงขึ้นเป็น 2 เท่า มาอยู่ที่กว่า 2 ล้านล้านบาท ขณะที่พนักงานของทั้ง 2 ธนาคาร ปัจจุบันรวมกันทั้งหมด 19,000 คน อาจจะยังไม่เพียงพอกับการดำเนินงานของธนาคารหลังจากการควบรวมที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ขึ้น ทำให้ธนาคารยังต้องการทรัพยากรคนอยู่ เพราะธุรกิจของธนาคารเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับคน
          นายปิติชี้แจงว่า ตามแผนการรวมกิจการดังกล่าว ธนาคารจะจัดหาเงินทุนรวมทั้งสิ้น 130,000 ล้านบาทจากการออกหุ้นเพิ่มทุน เงินทุนส่วนแรกนั้น จะเป็นการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของธนาคาร ตามใบแสดงสิทธิ (TSR) ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ โดยคาดว่า จะสามารถระดมทุนจากการออกหุ้นเพิ่มในส่วนนี้ 42,500 ล้านบาท 
เงินทุนก้อนที่สอง จะมาจากการออกและเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ บุคคลภายนอก และผู้ถือหุ้นเดิมของ TBANK ทุกราย ซึ่งคาดว่า จะสามารถเพิ่มทุนจากสองกลุ่มหลัง 6,400 ล้านบาท และ 57,600 ล้านบาท ตามลำดับ  
          นอกจากการจัดหาเงินทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนแล้ว ธนาคารจะมีการออกตราสารหนี้ (Debt Financing) โดยการออกและเสนอขายตราสารทางการเงินที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 1 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ 9,600-16,000 ล้านบาท และเสนอขายตราสารด้อยสิทธิที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ ผู้ลงทุนรายใหญ่ 15,000 ล้านบาท 
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมจากตราสารหนี้อีกไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ในกรณีที่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับรองรับการขยายกิจการ

          “ประมาณการเบื้องต้น คาดว่าโครงสร้างการถือหุ้นของธนาคาร จะมีสัดส่วน เปลี่ยนไปดังนี้ กลุ่ม ING จะถือหุ้น 21.3% กลุ่ม TCAP ถือหุ้น 20.4% กระทรวงการคลังถือหุ้น 18.4% กลุ่ม BNS 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอีก 34.3%
          ด้านนายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ TBANK กล่าวว่า การปรับสาขาของทั้งสองธนาคารยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งอาจจะมีการปิดสาขาของธนาคารในบางพื้นที่ที่มีการทับซ้อนกัน โดยที่ปัจจุบันสาขาของทั้งสองมีรวมกันอยู่ 900 สาขา ส่วนการใช้บริการของลูกค้าในช่วงระหว่างการควบรวมยังใช้บริการตามปกติของแต่ละธนาคาร และจะรวมมาเป็นการให้บริการเพียงธนาคารเดียวในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ
          สำหรับ โครงสร้างการบริหารปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยที่ผู้บริหารทั้งสองธนาคารยังทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการเติบโตของทั้งสองธนาคารระหว่างควบรวมกิจการ ส่วนโครงสร้างการบริหารใหม่นั้นยังต้องการพิจารณาจากคณะกรรมการของทั้งสองธนาคาร ซึ่งจะมีการจัดสรรตำแหน่งการทำงานตามความเหมาะสม เพื่อร่วมกันบริหารธนาคารใหม่ให้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          "การรวมกิจการครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญ และจุดแข็งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะธนาคารธนชาตที่เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ และทีเอ็มบีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการระดมเงินฝาก ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุนในการทำธุรกิจเกิดประสิทธิภาพรวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้นถึง 10 ล้านคน ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายต่อไปอย่างแน่นอน"นายประพันธ์ กล่าว
          ด้านนายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการธนาคาร TMB กล่าวว่า การรวมกิจการครั้งนี้ สอดคล้องกับแนวคิดของภาครัฐในการส่งเสริมการรวมกิจการเพื่อเพิ่มขนาดกิจการและศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของสถาบันการเงินของประเทศและเศรษฐกิจไทยโดยรวมนอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มการลงทุนในประเทศไทยด้วย โดยกระทรวงการคลังพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาท และมีสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มเติมจากการจัดสรรตามสิทธิที่พึงมีในกรณีที่มีผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่นๆ ไม่ใช้สิทธิเต็มจำนวน เพื่อคงสถานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลัก เนื่องจากมีความเชื่อมั่นจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ TMB รวมถึงศักยภาพของ ING ที่มีส่วนผลักดันในความสำเร็จของ TMB ให้เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของไทยในปัจจุบันและมั่นใจในจุดแข็งของ TCAP ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของธนาคารธนชาตที่จะเข้ามาร่วมผนึกกำลัง เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทำให้ธนาคารมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
          นายมาร์ค นิวแมน กรรมการผู้จัดการ ING Challengers and Growth Markets, Asia กล่าวว่า จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการลงทุนใน TMB ประกอบกับการพัฒนาทางด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในธุรกิจธนาคาร และอื่น ๆ อีกมากมายทำให้ ING ตัดสินใจลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 12,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการรวมกิจการของทั้งสองธนาคารในครั้งนี้ 
ทั้ง ING และ TCAP ต่างพัฒนาความเชื่อมั่นที่มีต่อกันจากกระบวนการรวมกิจการนี้ จนนำไปสู่การตั้งเป้าหมายร่วมกันที่จะทำให้ธนาคารใหม่เติบโตอย่างมั่นคง และเป็นผู้นำทางด้านดิจิทัลประกอบกับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงการคลัง การรวมกิจการของทั้งสองธนาคารในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามที่คาดไว้อย่างแน่นอน