‘กุลิศ’ท้าชน ยักษ์เชฟรอน ค่า‘รื้อแท่น’

15 ก.ค. 2562 | 09:00 น.

ปลัดกระทรวงพลังงาน ยัน เชฟรอนและโททาล ต้องวางหลักประกันค่ารื้อถอนกว่า 1 แสนล้าน ชี้กฎหมายระบุชัด ต้องวางเต็มจำนวนกว่า 300 แท่นที่ส่งคืนรัฐ หากไม่พอใจส่งหนังสือแจ้งได้ มีเวลาสรุปข้อยุติได้ถึงสิ้นปีนี้

จากกรณีบริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชั่นฯ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐอเมริกา ที่พ่ายแพ้การประมูลปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ และบริษัทโททาลฯ ยักษ์ใหญ่นํ้ามันฝรั่งเศส ในฐานะผู้ถือหุ้นในแหล่งก๊าซบงกช 33.3% และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 66.3% ซึ่งทั้ง 2 แหล่งนี้จะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565-2566 และจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ทั้งหมดคืนให้กับรัฐ ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอหารือข้อกฎหมาย ในกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ

หลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้มีหนังสือให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 แหล่ง วางหลักประกันรื้อถอนเต็มจำนวนแท่นผลิตของแหล่งเอราวัณกว่า 200 แท่น และแท่นผลิตแหล่งบงกชกว่า 100 แท่น หรือในวงเงินราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีครบกำหนดให้วางหลักประกันในเดือนตุลาคม 2562 สร้างความไม่พอใจให้กับบริษัท เชฟรอนฯ และโททาล

‘กุลิศ’ท้าชน  ยักษ์เชฟรอน  ค่า‘รื้อแท่น’

ทั้งที่ ตามหลักแล้วภาครัฐจะนำแท่นผลิตกว่า 50% ไปให้ปตท.สผ.ผลิตปิโตรเลียม เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ในฐานะผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซทั้ง 2 แหล่ง โดยไม่ต้องแบกรับภาระการรื้อถอน เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมต้องแบกรับการรื้อถอนทั้งหมด อีกทั้ง การออกกฎกระทรวง เกี่ยวกับ การกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ.2559 เป็นการออกกฎหมายภายหลัง จึงไม่มีผลบังคับย้อนหลัง และรัฐบาลไม่เคยขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกมาในภายหลัง ดังนั้น จึงไม่มีผลบังคับใช้กับคู่สัญญา ถึงขนาดต้องยื่นหนังสือเตือน (โนติซ) กระทรวงพลังงาน หากการเจรจากับภาครัฐไม่ได้ข้อยุติ จะมีการยื่นเรื่องฟ้องอนุญาโตตุลาการ เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

 

‘กุลิศ’ท้าชน  ยักษ์เชฟรอน  ค่า‘รื้อแท่น’

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ได้กำหนดให้ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยจะต้องยื่นแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กำหนดในกฎกระทรวง ก่อนที่สัมปทานจะหมดอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี และวางหลักประกันการรื้อถอนให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากอธิบดีเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2562 นี้ และต้องวางหลักประกันเต็มจํานวน ของประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน ซึ่งที่ผ่านมาก็รับทราบอยู่แล้ว ดังนั้นทั้ง 2 บริษัท จะต้องดำเนินงานตามข้อกฎหมาย

การที่จะสร้างเงื่อนไขใหม่โดยการหยิบยกข้ออ้างสัญญาสัมปทานข้อ 15(4) ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำกันตั้งแต่ปี 2515 เป็นข้อตกลงและพันธะระหว่างกัน ดำเนินงานก่อนที่จะมีกฎกระทรวงออกมาบังคับใช้เมื่อปี 2559 นั้น ต้องไปมองเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ที่ให้ดำเนินงานตามกฎกระทรวงซึ่งเป็นเรื่องของความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ การที่จะไปยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ ว่าดำเนินการผิดสัญญา จึงไม่น่าจะสามารถดำเนินการได้

อีกทั้ง การจะนำแท่นผลิตปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานไปมอบให้รายใดดำเนินงานต่อนั้น ก็มีการระบุไว้ในข้อกฎหมาย ที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ได้ส่งมอบคืนให้กับรัฐแล้ว ดังนั้นการที่ออกกฎกระทรวงมาภายหลัง จึงไม่ถือว่า เป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เพราะได้กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 อยู่แล้ว

‘กุลิศ’ท้าชน  ยักษ์เชฟรอน  ค่า‘รื้อแท่น’

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวง ได้เปิดช่องในการวางหลักประกันไว้ให้ ที่ผู้รับสัมปทานอาจขอเพิ่มหรือลดมูลค่าของหลักประกันได้ โดยยื่นเป็นหนังสือระบุเหตุผล และมูลค่าของหลักประกันที่เพิ่มหรือลดต่ออธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หากผู้รับสัมปทานไม่เห็นด้วยกับหนังสือแจ้งไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย ไม่วางหลักประกันการรื้อถอนมาภายในเดือนตุลาคมนี้ ก็ยังมีเวลาที่จะพิจารณาให้ได้ข้อยุติจนถึงสิ้นปีนี้ได้

“มองว่าผู้รับสัมปทานบีบกระทรวงพลังงาน โดยมีหนังสือเตือนมา ที่จะไม่จ่ายค่าประกันการรื้อถอนเต็มจำนวนตามที่ประเมินไปทั้ง 2 แหล่งรวมกันกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น และหากไม่ดำเนินงานตามจะไปฟ้องอนุญาโตตุลาการนั้น คงไม่หนักใจอะไร เพราะดำเนินงานข้อกฎหมายที่มีอยู่”

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,487 วันที่ 14 - 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

● ปตท.สผ.ดัมพ์ราคาก๊าซ 116 บาท/ล้านบีทียู ชนะเชฟรอนทั้งแหล่งเอราวัณ-บงกช

 

● 'เชฟรอน' ผิดหวังแพ้ประมูลเอราวัณและบงกช

 

● ปตท.สผ. กำ 1.2 แสนล้าน จ่อซื้อ "เชฟรอนไทย" ยกพวง

 

● ยึดปิโตรเลียม 3 แสนล้าน! PTTEP-มูบาดาลา-มิตซุยฯ แย่งซื้อ 'เชฟรอน'

 

● ผวาเชฟรอน ปลดพันคน แห่ซบปตท.

 

● สหรัฐฯ ย้ำความร่วมมือไทย ยันเชฟรอนไม่ถอนการลงทุน

 

● 2 ยักษ์พลังงานขู่ฟ้องอนุญาโตฯ ยื้อค่ารื้อถอนแสนล้าน

 

● กางพ...ปิโตรเลียม  อยู่เหนือสัญญาสัมปทาน

 

● รัฐลั่นเก็บค่ารื้อถอนแสนล้าน2ยักษ์พลังงาน

 

‘กุลิศ’ท้าชน  ยักษ์เชฟรอน  ค่า‘รื้อแท่น’