'ทริส' เพิ่มอันดับเครดิตองค์กร & หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน "ck" เป็น "A" จาก "A-"

04 เม.ย. 2562 | 11:10 น.


"ทริส เรทติ้ง" เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ ck เป็นระดับ "A" จากเดิมที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของบริษัทที่สูงขึ้นในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในกลุ่มบริษัทในเครือ ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดี แนวโน้มการเติบโตของกำไรของบริษัทและภาระหนี้ของบริษัทที่ลดลง

อันดับเครดิตยังสะท้อน รวมถึงสถานะความเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างชั้นนำในประเทศไทย ตลอดจนความสามารถในการรับงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความแข็งแกร่งในการดำเนินโครงการและความยืดหยุ่นทางการเงินที่เกิดจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง



⁍ ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

● สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง

บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งเกิดจากการมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศของบริษัท บริษัทมีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างที่หลากหลาย ครอบคลุมงานก่อสร้างทั่วไป เช่น งานก่อสร้างถนน ทางด่วน อาคาร และสะพาน ไปจนถึงงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนสูง เช่น งานโครงการระบบขนส่งใต้ดินและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

บริษัทเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ อันดับที่ 2 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อพิจารณาในแง่ของรายได้และสินทรัพย์ ทั้งนี้ บริษัทมีประสบการณ์ในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ยาวนาน และการมีฐานทุนขนาดใหญ่ยังช่วยให้บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐได้อีกด้วย



● การลงทุนเชิงกลยุทธ์ช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ

อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงความสามารถในการบริหารจัดการแผนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท นอกจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้ว บริษัทยังมีกลยุทธ์ในการสร้างฐานรายได้ประจำ เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างด้วย

บริษัทลงทุนและคงสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 3 บริษัทดังกล่าว ดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน หรือ สัญญาซื้อขายระยะยาว

ในมุมมองของ "ทริส เรทติ้ง" เห็นว่า บริษัทได้แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการขยายสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำในระดับหนึ่ง ซึ่งช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากวงจรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างลงได้ บริษัทเหล่านี้ได้จ้างให้บริษัทดำเนินโครงการก่อสร้างจำนวนมากที่เป็นส่วนของการขยายงานของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับเงินปันผลจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอและมีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนอีกด้วย



● ความสามารถในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของบริษัทในการปรับตัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างจากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอ "ทริส เรทติ้ง" คาดว่า บริษัทจะรับรู้รายได้มากขึ้นจากการลงทุนของบริษัท พิจารณาจากการที่บริษัทในเครือมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทั้ง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และบริษัท ซีเคพาวเวอร์

"ทริส เรทติ้ง" คาดว่า บริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากทั้ง 2 บริษัท ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกัน บริษัทจะได้รับเงินปันผลจาก บริษัท ทีทีดับบลิว ประมาณ 450-500 ล้านบาทต่อปี การลงทุนเชิงกลยุทธ์นี้ยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัท จากการที่บริษัทเหล่านั้นเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมูลค่าตลาดของทั้ง 3 บริษัท ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเชิงกลยุทธ์ดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งบริษัทยังต้องให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในบางโครงการ ซึ่งเป็นสัญญาสัมปทานในรูปแบบผู้สนับสนุนโครงการ ซึ่งทำให้ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ "ทริส เรทติ้ง" มองว่า ปัจจุบัน ทั้งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และบริษัท ซีเคพาวเวอร์ มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแรงและสามารถที่จะระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงการของตัวเองได้ "ทริส เรทติ้ง" คาดว่า ในอนาคต บริษัทจะไม่ต้องให้การสนับสนุนทางด้านการเงินจำนวนมากกับบริษัทร่วมทั้ง 2 แล้ว ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับภาระหนี้ในปัจจุบันเอาไว้ได้



● ความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

"ทริส เรทติ้ง" ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกสำหรับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากนโยบายการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง บริษัทมีความพร้อมในการประมูลงานเหล่านี้ เพื่อเพิ่มมูลค่างานในมือของบริษัทที่กำลังลดลง

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างยังคงเป็นปัจจัยกดดันอันดับเครดิตต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันกันอย่างรุนแรงของผู้รับเหมาก่อสร้างจะส่งผลกดดันต่ออัตรากำไร เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันกัน ซึ่งจะลดอัตรากำไรของผู้รับเหมาก่อสร้างในที่สุด อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความล่าช้าในขั้นตอนการประมูลงานและการจัดจ้างในโครงการภาครัฐอีกด้วย



● กำไรและกระแสเงินสดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น

ภายใต้ประมาณการ 3 ปีของ "ทริส เรทติ้ง" คาดว่า รายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 30,000-33,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2562-2564 มูลค่างานรับเหมาก่อสร้างในมือที่ระดับปานกลางที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 90% ของประมาณการรายได้ในปี 2562 และคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ในปี 2563 และ 15% ในปี 2564 "ทริส เรทติ้ง" คาดว่า อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะยังทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 8% กำไรขั้นต้นจะทรงตัวที่อย่างน้อย 2,700 ล้านบาทต่อปี จากการคาดว่า รายได้จากบริษัทร่วมจะสูงขึ้นนั้น "ทริส เรทติ้ง" ประมาณการกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-4,500 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2562-2564 เมื่อเทียบกับ 3,300-4,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ เงินทุนจากการดำเนินงาน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 2,600-3,000 ล้านบาทต่อปี


● คาดว่าภาระหนี้จะลดลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตพิจารณา รวมถึงความคาดหวังว่า บริษัทจะมีภาระหนี้ที่ลดลงในอนาคต บริษัทมีภาระหนี้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ สิ้นปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 57.2% ลดลงจากระดับ 65%-70% ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากที่มีการโอนภาระเงินกู้ยืมของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงไปให้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังทรงตัวอยู่ในระดับ 52.9% ณ สิ้นปี 2561 เนื่องจากบริษัทต้องให้การสนันสนุนเงินกู้ยืมระยะยาวในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีประมาณ 14,000 ล้านบาท

ในประมาณการพื้นฐานของ "ทริส เรทติ้ง" คาดว่า บริษัทจะสามารถรักษาภาระหนี้ให้อยู่ที่ระดับ 50%-55% เอาไว้ได้ เนื่องจากระดับการสนับสนุนทางการเงินที่บริษัทจำเป็นต้องให้แก่บริษัทร่วมน่าจะลดลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย คาดว่าจะลดลงและทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 7 เท่า "ทริส เรทติ้ง" พิจารณาว่า ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่าบริษัทรายอื่น ๆ ที่ได้รับอันดับเครดิตในระดับเท่ากัน เนื่องจากการประเมินอันดับเครดิตพิจารณาถึงภาระหนี้ของบริษัทที่มีโครงสร้างทางธุรกิจที่เป็นทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ประกอบธุรกิจลงทุนด้วย ซึ่งภาระหนี้ของบริษัทจะลดลงได้อีก หากเงินให้กู้ยืมเพื่อสนับสนุนโครงการไซยะบุรีมีการชำระคืนด้วยการกู้ยืมใหม่



● สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้

บริษัทมีสภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการได้ โดย ณ เดือน ธ.ค. 2561 บริษัทมีเงินสดจำนวน 8,500 ล้านบาท และมีเงินลงทุนชั่วคราวอีกจำนวน 400 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานในช่วง 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ในขณะที่ คาดว่า บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท และเงินปันผลจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ ภาระหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า จะมีจำนวนประมาณ 4,800 ล้านบาท ซึ่งคาดว่า บริษัทจะชำระหนี้ด้วยเงินรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หรือ การออกหุ้นกู้ชุดใหม่ จากสถานะในตลาดทุนและอันดับเครดิตของบริษัท ความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่ของบริษัทค่อนข้างต่ำ

นอกจากนี้ สภาพคล่องของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนทั้ง 3 แห่ง โดย ณ สิ้นปี 2561 เงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนดังกล่าวมีมูลค่ายุติธรรมอยู่ที่ 66,600 ล้านบาท หรือประมาณ 1.8 เท่าของภาระหนี้รวมของบริษัท อย่างไรก็ดี บริษัทมีแนวโน้มที่จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัททั้ง 3 แห่งนี้ในระดับหนึ่งต่อไป

ในช่วงปี 2562-2564 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัท คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้น คาดว่าจะอยู่สูงกว่า 8% ทั้งนี้ บริษัทจะต้องรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่าเอาไว้เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.08 เท่า ณ สิ้นปี 2561



สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

• คาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-33,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2562-2564

• อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะรักษาระดับไว้ที่อย่างน้อย 8%

• บริษัทสามารถได้งานรับเหมาก่อสร้างใหม่ มูลค่า 30,000-35,000 ล้านบาทต่อปี

• เงินสนับสนุนให้กู้ยืมในโครงการไซยะบุรียังคงมีอยู่ในช่วงหลายปีข้างหน้า

• ไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ การสนับสนุนทางการเงินจำนวนมากแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องกัน



แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่า บริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ได้งานใหม่จากโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น บริษัทจะสามารถรักษาอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับ 8% เอาไว้ได้ แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงก็ตาม เงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ของบริษัทจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี และบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในช่วง 50%-55% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า


ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า มีค่อนข้างจำกัด แต่จะเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดเพิ่มได้อย่างมีนัยสำคัญ และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายลดลง และอยู่ต่ำกว่า 5 เท่า เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องได้ ขณะเดียวกันก็สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้

ในขณะที่ ปัจจัยลบสำหรับอันดับเครดิต ได้แก่ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมาก ซึ่งอาจเกิดจากความล่าช้าและการมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือ หากผลการดำเนินงานลดลงอย่างมาก หรือ มีการลงทุนขนาดใหญ่ หรือ มีการให้การสนับสนุนทางการเงินที่มีมูลค่าสูงแก่บริษัทในกลุ่ม ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนสูงเกินกว่า 60% เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่อง