'สามารถ' ลั่น ปชป. เดินหน้าสร้าง "รถไฟฟ้า" ทั่วกรุงให้เสร็จภายใน 5 ปี

07 มี.ค. 2562 | 10:54 น.

วันที่ 7 มี.ค. 2562 "ฐานเศรษฐกิจ" จัดสัมมนา เรื่อง "พลิกโฉมไทย เปิดประตูสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลกรุงเทพ โดยในหัวข้อ "โฉมหน้า Smart Mobility ประเทศไทยยุคใหม่ หลังเลือกตั้ง"
 

'สามารถ' ลั่น ปชป. เดินหน้าสร้าง "รถไฟฟ้า" ทั่วกรุงให้เสร็จภายใน 5 ปี


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีทำเลและยุทธศาสตร์ที่สามารถเป็นศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาคได้ ถึงเวลาแล้วที่ประเทศเราจะได้มีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างกลไกการแข่งขันของประเทศ เริ่มตั้งแต่ระบบโลจิสติกส์ จะช่วยการลดมลภาวะ ลดก๊าซเรือนกระจก พรรคฯ จึงมีนโยบายจะสร้างระบบขนส่ง ดังนี้

เริ่มจาก กทม. และปริมณฑล จะเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าตามแผนแม่บทต่อไป พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพรถเมล์และรถสาธารณะ จะเห็นได้ว่า รถไฟฟ้าใน กทม. มีความยาว 520 กม. เปิดบริการแล้ว 120 กม. กำลังก่อสร้าง 175 กม. เหลืออีก 225 กม. เราจะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี ๆ ละ 45 กม.

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นภาระของประชาชน พรรคมีนโยบายลดราคารถไฟฟ้า โดยจะลดในเส้นทางที่รัฐบาลลงทุนเอง 100% เช่น , เส้นทางจากบางใหญ่-เตาปูน จาก 42 บาท เหลือ 15 บาท หรือ จากบางใหญ่-หัวลำโพง ค่าโดยสารเหลือ 43 บาท จาก 70 บาท

ต้องปรับปรุงรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากรถไฟฟ้ากับรถเมล์ต้องพึ่งพากัน พรรคประชาธิปัตย์จะจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 5,000 คัน มาบริการ พร้อมกับจัดหาเส้นทางรถเมล์ใหม่ให้สอดรับกับเส้นทางรถไฟฟ้า และลดราคารถไฟฟ้าให้เหมาะสม จะส่งผลให้ลดการใช้รถส่วนตัวลงและลดมลพิษลง โดยเฉพาะ PM 2.5 และลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง

 


สนับสนุนให้เดินทางโดยระบบ "คาร์พูล" ภายใต้หลักการ "ทางเดียวกันไปคันเดียวกัน" จะช่วยลดปัญหารถติด โดยเจ้าของรถจะเสนอเส้นทาง-วัน-เวลา-ราคาค่าโดยสาร และเงื่อนไขอื่น ๆ เช่น ห้ามรับประทานอาหารบนรถ ห้ามสูบบุหรี่ เป็นต้น โดยผ่านแอพพลิเคชัน

ในขณะที่ ผู้ร่วมเดินทางจะค้นหาผู้ขับรถที่จะเดินในเส้นทางเดียวกัน โดยผ่านแอพเช่นกัน นอกจากนั้น ระบบคาร์พูลยังใช้ร่วมกับรถขนส่งสินค้าได้

ขณะที่ การเดินทางระหว่าง กทม. ไปต่างจังหวัด เวลานี้เมืองไทยมีรถไฟยาว 4,000 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง 1,000 กิโลเมตร เหลือทางเดี่ยวประมาณ 2,600 กิโลเมตร จะต้องสร้างทางเดี่ยวเป็นทางคู่และทางคู่เส้นทางใหม่รวมกัน จะได้ 5,600 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปี

ส่วนรถไฟทางคู่ พรรคฯ จะเร่งรัดการก่อสร้างในระเบียงตะวันตก-ตะวันออก ประกอบด้วย 2 เส้นทาง คือ จากแม่สอดไปปากน้ำโพ จนถึงนครพนม ระยะทาง 910 กม. เป็นการเชื่อมภาคเหนือตอนล่างกับภาคอีสานเชื่อมโยงไปถึงประเทศเมียนมาและลาว โดยไม่ต้องแวะผ่าน กทม. อีกเส้นทางเป็นการเชื่อมระหว่างทวาย-อรัญประเทศ ระยะทาง 625 กม. เป็นการเชื่อมโยงท่าเรือน้ำลึกของไทยและทวาย โดยผ่านเมืองต่าง ๆ ของประเทศ จะทำให้ค่าบริการถูกลง จะส่งผลดี คือ การลดพลังงงานเชื้อเพลิงและมลพิษ

รถไฟความเร็วสูง พรรคประชาธิปัตย์เคยเจรจากับจีนในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 5 เส้นทาง 1) กทม.-เชียงใหม่, 2) กทม.-หนองคาย 3) กทม.-อุบลฯ 4) กทม.-ระยอง, 5) กทม.-ปะดังเบซา เป็นระยะทางกว่า 3,000 กม.

จากการที่ได้หารือกับจีนได้พูดถึงการร่วมทุนไทย-จีน พรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าสร้างรถไฟความเร็วสูง กทม.-หนองคาย โดยจะก่อสร้างจากเวียงจันทร์เข้านครราชสีมาเป็นอันดับแรก ระยะทาง 360 กม. เป็นการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว เข้าสู่ไทย เพื่อเชื่อมโยงไทย-ลาว สู่จีน

การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากเวียงจันทร์ไปนครราชสีมา หนองคาย-อุดรฯ-ขอนแก่น มาประจบกับรถไฟความเร็วสูงจาก กทม. ไปนครราชสีมา ที่รัฐบาลกำลังก่อสร้าง

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟความเร็วสูง กทม.-ระยอง ซึ่งอยู่ตามแผนแม่บท พรรคประชาธิปัตย์จะสานต่อโครงการนี้ เพราะเล็งเห็นว่า ไม่กระจุกตัวในสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น แต่จะกระจายตัวไปสนามบินดอนเมืองและอู่ตะเภา ดังนั้น การก่อสร้างเทอร์มินอลจึงไม่ต้องก่อสร้าง 3 เทอร์มินอลในสนามบินสุวรรณภูมิ แค่ 2 เทอร์มินอล ก็เพียงพอแล้ว เพราะสามารถรับรองผู้โดยสาร 120 ล้านคนต่อปี

ในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเกิดมูลค่าที่ดินรอบ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมืองใหม่ ศูนย์ราชการ มหาวิทยาลัย และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งจะเกิดการสร้างแรงงานสร้างรายได้เกิดขึ้น โดยสรุป หลังจากมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากลาวมาไทยเรียบร้อยแล้ว ถ้าการร่วมทุนกับจีน ทางจีนจะทำทุกวิถีทางไม่ให้ขาดทุน โดยการใช้กลยุทธ์ทางตลาด แจกคูปองให้ชาวจีนคนละ 1,000 หยวน เพื่อเดินทางไทย โดยใช้รถไฟความเร็วสูงจีนลาวไทยแทนเครื่องบิน ถ้าเดินทางมาวันละ 5,000 คน ปีละ 2 ล้านคน จะมีการใช้จ่ายเงินไทยปีละ 5 หมื่นบาท มีเงินหมุนเวียนในประเทศ 1 แสนล้านบาท


ส่วนมอเตอร์เวย์  ประชาธิปัตย์ทำแผนแม่บทและก่อสร้างเส้นทางแรกในประเทศไทย คือกรุงเทพชลบุรี  พรรคประชาธิปัตย์จะก่อสร้างต่อไป  โดยจะเร่งรัด 2 เส้นทางคือ แม่สาย-เชียงของ-บางปะอินและสุไหโกลก-นครปฐม

นอกจากนั้น ยังมีเมืองเศรษฐกิจมหานครสร้างเป็นการรองรับและกระจายความเจริญจาก กทม. ไปภูมิภาค พรรรคประชาธิปัตย์จะกระจายความเจริญไปยัง 12 เมืองเศรษฐกิจมหานคร อาทิ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลฯ สงขลา ภูเก็ต ระยอง ชลบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยจะพัฒนาเมืองเหล่านี้ รวมทั้งด้านคมนาคมขนส่งให้ครบทุกเมือง

'สามารถ' ลั่น ปชป. เดินหน้าสร้าง "รถไฟฟ้า" ทั่วกรุงให้เสร็จภายใน 5 ปี