'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย รับมือเศรษฐกิจโลกยุคใหม่

06 มี.ค. 2562 | 13:51 น.

ผู้ว่าการ ธปท. 'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย ฝ่าการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ย้ำ! ไม่มีทางลัด แนะเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยคุณภาพ ผลิตภาพ-ยกระดับแรงงานภาคเกษตร และคนของรัฐบูรณาการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพเศรษฐกิจประเทศ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง" ในงานดินเนอร์ทอล์ค "Thai Journalists Association 64th Anniversary" โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 5 มี.ค. 2562 โดยความตอนหนึ่งระบุว่า ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ไป เราจะเลือกตั้งกันอีกครั้ง ซึ่งเรื่องที่สำคัญกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ที่ท้าทายยิ่ง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่โลกยุคใหม่ และโจทย์ท้าทายของเศรษฐกิจไทยที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ และร่วมกันแก้ไข เพื่อที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกใหม่ได้อย่างเท่าทัน

'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย รับมือเศรษฐกิจโลกยุคใหม่
⇲ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย


สำหรับการเตรียมพร้อมสำหรับเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องให้ความสำคัญกับอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ 1) ต้องส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าด้วยคุณภาพและผลิตภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมและ SMEs โดยไม่เน้นปริมาณเช่นที่ผ่านมา แต่คงดีกว่า ถ้าเน้นคุณภาพและผลิตภาพ ทำงานในระดับจุลภาคอย่างใกล้ชิด เช่น เกษตรกรไทยสามารถเพิ่มคุณภาพจนสร้างความแตกต่างของผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง มีกำไรและเงินออมที่เกิดจากการทำงานด้วยตนเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเข้าพยุงราคาสินค้าเกษตรในทุกฤดูกาลเพาะปลูก หรือ ถ้าสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงและมีอำนาจซื้อสูงเข้ามาในประเทศได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่สร้างปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ คุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว ที่จะสร้างผลเสียให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในระยะยาว

การเสียสละผลประโยชน์ในช่วงสั้น ๆ ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐ และต้องการการแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบนมาเสริมการขับเคลื่อนนโยบายที่เน้นจากบนลงล่าง เราต้องตระหนักว่า ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับมิติด้านคุณภาพและผลิตภาพอย่างเพียงพอแล้ว เราจะใช้งบประมาณและทรัพยากรจำนวนมากไปสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำเป็นต้องแก้ไขจะถูกปล่อยทิ้งไว้ ในขณะที่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราอาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันการณ์ ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยจะถูกบั่นทอนอย่างรุนแรง กระทบต่อความอยู่ดีกินดีของคนไทยในระยะยาว

2) ต้องเร่งเพิ่มคุณภาพของแรงงานไทย 38 ล้านคน ที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก คนไทยกำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการแข่งขันจากประเทศอื่นที่มีประชากรวัยหนุ่มสาวมากกว่าเรามาก ทักษะงานของโลกเก่าที่แรงงานไทยคุ้นเคยจะทยอยหมดความสำคัญลงเรื่อย ๆ บริษัท McKinsey ได้ประเมินว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีแรงงานทั่วโลกราว 14% ที่จะถูกเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบ Automation และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนที่ สัดส่วนนี้จะสูงขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่แรงงานมีคุณภาพต่ำ และมีลักษณะงานซ้ำ ๆ โจทย์ที่อาจจะสำคัญกว่า คือ จะยกระดับคุณภาพของแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน 38 ล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรไทยได้อย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น หลายประเทศได้วางแผนพัฒนาทักษะสำหรับโลกยุคใหม่ให้กับแรงงานของตนอย่างจริงจังแล้ว

"เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา และตัวแรงงานเอง เนื่องจากโลกข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ทักษะของการเรียนรู้ เพื่อที่จะพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย แต่จำเป็นยิ่งสำหรับคนไทยในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง"

3) การเตรียมพร้อมเรื่องจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทยได้อย่างไร จะทำอย่างไรที่จะให้ทรัพยากรย้ายออกจากภาคเศรษฐกิจมีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคที่มีผลิตภาพสูงกว่า นอกจากจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ไม่ว่าทุน คน หรือ ที่ดิน สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยง่าย จากภาค เศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูง จากธุรกิจที่ทรง ๆ หรือ ไม่ประสบความสำเร็จ ไปสู่ธุรกิจที่กำลังเติบโต จากเศรษฐกิจในโลกยุคเก่าไปสู่เศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ ซึ่งเราจะได้ยินคำพูดของธุรกิจ Start Up อยู่เสมอว่า "fail fast, fail cheap and fail forward" หรือ เป็นการล้มที่จะลุกไปข้างหน้าได้เร็วด้วยต้นทุนต่ำ การเคลื่อนย้ายทรัพยากรให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้ากฎระเบียบจำนวนมากของภาครัฐยังล้าสมัย และเป็นพันธนาการไม่สนับสนุนให้ธุรกิจไทยและคนไทยมีความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด การปฏิรูปกฎหมายและกฎเกณฑ์ของภาครัฐอย่างจริงจังเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกเหนือจากภาคเกษตรแล้ว แรงงานในภาครัฐก็เป็นโจทย์ใหญ่เช่นกัน โดยวันนี้ บุคลากรภาครัฐมีมากกว่า 2 ล้านคน และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากจะทำให้งบประมาณด้านบุคลากรของรัฐบาลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีสัดส่วนงบประมาณด้านบุคลากรสูงแล้ว ซึ่งการจัดอันดับ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของ World Bank พบว่า ภาครัฐไทยมีประสิทธิภาพที่ลดลงเรื่อย ๆ ถ้าหากรัฐบาลสามารถตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพของภาครัฐได้สำเร็จ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อนและล้าสมัย และปรับโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดเล็กลง นอกจากประเทศจะได้ประโยชน์จากแรงงานที่ทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้นแล้ว ภาครัฐยังจะมีงบประมาณเพิ่มขึ้นสำหรับการลงทุนพัฒนาประเทศ รวมถึงสร้างภูมิต้านทานด้านการคลังเพื่อรองรับความผันผวนที่เราจะต้องเผชิญอีกมากในอนาคต

นอกจากปัญหาต่าง ๆ ที่พูดถึง ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่รอการแก้ไขอยู่หลายเรื่อง ในขณะที่ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามีโจทย์ที่ท้าทายหลายด้านที่เชื่อมโยงกัน

ไม่มีทางลัดที่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่เกิดผลข้างเคียงไปสู่เรื่องอื่น จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างหลายอย่างที่มีมาแต่เดิม การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้ย่อมก่อให้เกิดผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสานประโยชน์ระหว่างคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม และสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยไปข้างหน้า เวลาที่เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปนี้ คำถามแรกที่คนส่วนใหญ่จะถาม คือ ใครควรเป็นเจ้าภาพ หน่วยงานไหนของภาครัฐควรรับเป็นเจ้าภาพ แล้วเราก็มักจะจบลงด้วยคำตอบที่ว่า หาใครรับเป็นเจ้าภาพไม่ได้ จึงเดินหน้าต่อไปไม่ได้

'วิรไท' ชู 3 ปัจจัย รับมือเศรษฐกิจโลกยุคใหม่
⇲ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย


นายวิรไท ยังกล่าวย้ำว่า เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก ต้องการแรงขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนในสังคม ทุกคนควรจะต้องถือว่าเป็นหน้าที่ที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง ถ้ามัวแต่คิดว่า คนอื่นต้องรับเป็นเจ้าภาพแล้ว ไม่มีทางที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ในสังคมไทย

การเปลี่ยนแปลง Mindset อันดับแรกที่ต้องเริ่มจากตนเองก่อนจึงสำคัญมาก ทุกคนต้องตระหนักถึงสภาวะแวดล้อมของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเริ่มเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองในวันนี้
 เริ่มจากถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำได้ทำให้ผลิตภาพของเรา หน่วยงานของเรา และประเทศของเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพของงานที่เราทำอย่างไรบ้าง ธุรกิจของเรา หรือ งานของเรา มีส่วนช่วยให้คนอื่นในสังคมได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะคนที่ด้อยโอกาสกว่า เราจะลดการเบียดเบียนคนอื่นในสังคมได้อย่างไร ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ และเราจะช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างไร ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าเราให้ความสำคัญกับการถามตัวเองเป็นประจำ นอกจากจะทำให้เราพัฒนาไปข้างหน้าแล้ว จะช่วยสร้างพลังบวกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปข้างหน้าด้วย จะเป็นพลังบวกที่จะนำไปสู่ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งความไว้วางใจนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งน่าเสียดายว่า ในช่วงที่ผ่านมาความไว้วางใจกันได้ลดน้อยลงในสังคมไทย จนส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก

"สังคมใดก็ตามที่มีความแคลงใจต่อกันเป็นพฤติกรรมในสังคม สังคมจะเดินหน้าได้ยากมาก ยากที่คนจะยอมแลกผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ยากที่จะยอมแลกผลประโยชน์ของตนในระยะสั้นกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว การแก้ไขปัญหาสำคัญต่าง ๆ ของประเทศจะต้องเผชิญกับแรงต้านตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำ ยากที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง หรือ การปฏิรูปใด ๆ ให้สำเร็จได้ การสร้างความไว้วางใจกันจึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ผมคิดว่า การสร้างความไว้วางใจกันและการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน"


……………….

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ครึ่งทาง ... 'วิรไท' ห่วงหนี้ครัวเรือนสูงฉุด! เศรษฐกิจเปราะบาง
● 'วิรไท' ชี้ตลาดเงินผันผวนสูงไม่จบเร็วย้ำให้ป้องกัน-บริหารความเสี่ยง