กรมการค้าต่างประเทศมั่นใจ! ตลอดปียอดใช้สิทธิ FTA และ GSP ทะลุเป้า

13 พ.ย. 2561 | 08:04 น.
กรมการค้าต่างประเทศ เผย 3 ไตรมาสแรก ปี 61 ยอดใช้สิทธิ FTA และ GSP แตะ 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มั่นใจตลอดทั้งปีสูงกว่าเป้าทะลุ 70,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) โดยในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย. 61) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 55,668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 74.44% ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.70% โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 52,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 3,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้จัดทำความตกลง FTA ทั้งสิ้น 12 ฉบับ และมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 52,090 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 75.64% ของมูลค่าการส่งออกรวมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไปยังประเทศคู่ภาคีความตกลง เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 18.19% โดยตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มีมูลค่า 19,949 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, จีน มีมูลค่า 13,189 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย มีมูลค่า 7,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น มีมูลค่า 5,591.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย มีมูลค่า 3,329.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


GSP

และเมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ พบว่า ตลาดที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด คือ เปรู ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 64.54% รองลงมา คือ จีน ขยายตัว 29.55% และอินเดีย ขยายตัว 22.57% ซึ่งทั้ง 3 ตลาด นอกจากจะมีอัตราการขยายตัวสูงแล้ว ยังพบว่า มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงเช่นเดียวกัน สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-ชิลี 94.97%, ไทย-ออสเตรเลีย 90.94%, อาเซียน-จีน 90.71%, ไทย-ญี่ปุ่น 87.38% และอาเซียน-เกาหลี 87.07% และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ทุเรียน น้ำตาลจากอ้อย และน้ำมันปิโตรเลียม

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามองการส่งออกไปจีน ที่มีอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2560 อย่างต่อเนื่อง โดยจีนมีการนำเข้าสินค้าสำคัญของไทยเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้มีการขยายตัวขึ้นหลายเท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เช่น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 มูลค่าการใช้สิทธิฯ Form E เติบโตถึง 29.55% รวมถึงสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 90.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการที่มาขอยื่นเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (Form E) กรมฯ จึงมีแนวทางที่จะพัฒนาการให้บริการการออก Form E ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต โดยใช้แนวทางเดียวกับการออกหนังสือรับรองอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ความตกลงอาเซียน (E-Form D) ซึ่งกรมฯ และหน่วยงานศุลกากรของจีนได้เริ่มมีการหารือและร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลถิ่นกำเนิดสินค้า (Electronic Origin Data Exchange System : EODES) และใช้ระบบ E-Form E ร่วมกันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา และล่าสุด ฝ่ายจีนมีแผนที่จะจัดคณะเจ้าหน้าที่มาประชุมร่วมกับฝ่ายไทยในช่วงต้นปี 2562 เพื่อต้องการเร่งผลักดันการเริ่มดำเนินการเพื่อจัดทำความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการใช้ระบบ EODES และระบบ E-Form E แบบทวิภาคีระหว่างไทย-จีนให้เป็นรูปธรรมต่อไป


GSP1

สำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP โดยในปัจจุบัน ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 5 ระบบ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราชนอร์เวย์ และญี่ปุ่น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 (ม.ค. - ก.ย.) มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP เท่ากับ 3,578 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิ 60.47% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ขยายตัว 10.98% โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกายังคงมีสัดส่วนการใช้สิทธิมากที่สุด คือ ประมาณ 90% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3,211 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิ 68.82% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 4,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 3.66% สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ, เครื่องดื่มอื่น ๆ, ถุงมือยาง, อาหารปรุงแต่ง และรถจักรยานยนต์

โดยในส่วนของประเด็นการตัดสิทธิ GSP สหรัฐฯ ที่ได้มีการประกาศตัดสิทธิ GSP สินค้าไทย จำนวน 11 รายการ เช่น ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง และมะขามตากแห้ง เป็นต้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ น้อยมาก เนื่องจากสินค้าทั้ง 11 รายการ มีสัดส่วนคิดเป็น 1.89% ของมูลค่าการส่งออกรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2560 และ 1.17% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ประกอบกับที่ผ่านมา สินค้าไทย เช่น เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น เคยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิ GSP มาแล้ว แต่ยังสามารถส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกมีการปรับตัว โดยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ทำให้ยังคงรักษาตลาดต่อไปได้


GSP2

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 จะมีแนวโน้มต้องเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงในด้านต่าง ๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่ยังไม่มีความชัดเจนและอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นทางการค้าและการลงทุน แต่กรมฯ คาดว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมาย โดยตลอดปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ไว้ที่ 9% คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ประมาณ 70,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 78.6% ของเป้าหมายมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ โดยเมื่อพิจารณาถึงมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่มีการกระจายตัวในตลาดใหม่ ๆ และศักยภาพในการขยายตลาดที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงมั่นใจว่า มูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว