อนาคตนํ้ามันปาล์มไทยในตลาดอียู(1)

06 พ.ย. 2561 | 06:08 น.
ากสถิติปี 2560 สหภาพยุโรป (อียู) นำเข้านํ้ามันปาล์มมากเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากอินเดีย) ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มของสหภาพยุโรปมีทั้งหมดประมาณ 10 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านยูโร โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกันมากกว่า 75% ของมูลค่าการนำเข้านํ้ามันปาล์มจากประเทศที่ 3 ทั้งหมด นํ้ามันปาล์มที่นำเข้าจะถูกนำไปผลิตไบโอดีเซล (46%) ใช้ผลิตอาหารคน อาหารสัตว์ และใช้ในภาคอุตสาหกรรม (45%) ส่วนที่เหลือใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน (9%)

Palm-Images

ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลของสหภาพยุโรปที่ผ่านมาเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรป หรือ Renewable Energy Directive (RED) 2009/28/EC ที่กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปไว้ที่ 20% ภายในปี 2563 และกำหนดการใช้พลังงานในภาคขนส่งของประเทศสมาชิก อย่างน้อย 10% จะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน

กฎระเบียบ RED กระตุ้นให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ นํ้ามันไบโอดีเซล โดยปริมาณความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 8% ในปี 2553 เป็น 48% ในปี 2558 แต่ถูกโจมตีว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลจากนํ้ามันปาล์มก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลถึง 3 เท่า อีกทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มในเขตร้อนนำมาซึ่งปัญหาการบุกรุกป่า ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ การล้มพืชอาหารเพื่อปลูกพืชพลังงาน และเป็นการละเมิดสิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน สหภาพยุโรปจึงได้ทบทวนเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งใหม่เมื่อปี 2558 โดยจำกัดการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชไว้ที่ 7% จากเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนในภาคขนส่งที่ 10% และกำหนดให้นํ้ามันปาล์มที่นำมาผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจะต้องผ่านการรับรองว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (indirect land use change - ILUC)

ต่อมาสหภาพยุโรปได้ตั้งเป้าหมายยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืช เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 คณะกรรมาธิการยุโรป คณะมนตรียุโรป และสภายุโรปได้ตกลงเห็นชอบร่วมกันเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบพลังงานหมุนเวียนใหม่หรือที่เรียกกันว่า RED II โดย

1.กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนของสหภาพยุโรปไว้ที่อย่างน้อย 32% ภายในปี 2573 (แทนเป้าหมายเดิม 27%) และอาจปรับเป้าหมายดังกล่าวเพิ่มขึ้นในปี 2566

2.กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคขนส่งไว้ที่ 14% ภายในปี 2573 โดยประเทศสมาชิก สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชต่อไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 7% ภายในปี 2563 ส่วนที่เหลือจะต้องมาจากไฟฟ้าหรือเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้ผลิตมาจากพืชอาหาร

TP10-3415-A 3.เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) ของเหลวชีวภาพ (bioliquids) หรือชีวมวล (biomass) ที่ผลิตจากพืชอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (ILUC) และเพาะปลูกในบริเวณที่มีการสะสมของคาร์บอนสูงจะต้องถูกจำกัดการใช้ไว้ไม่เกินระดับในปี 2562 และค่อย ๆ ยกเลิกไปภายในปี 2573

แม้กฎระเบียบ RED II ไม่ได้เจาะจงห้ามใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตมาจากนํ้ามันปาล์ม แต่น่าจะเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชชนิดอื่น ซึ่งกฎระเบียบ RED II จะส่งผลให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชของสหภาพยุโรปลดลงตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และให้การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชหมดไปภายในปี 2573 โดยประเทศสมาชิก ต้องให้การสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูง (advanced biofuels) หรือพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ มาแทนที่

ในส่วนผลกระทบต่อการส่งออกนํ้ามันปาล์มมายังตลาดสหภาพยุโรป แม้ว่า RED II ของสหภาพยุโรปกำหนดให้ประเทศสมาชิก ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชต่อไปได้อีก 12 ปี แต่ผู้ส่งออก นํ้ามันปาล์มไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเผชิญกับเกณฑ์ความยั่งยืนของชีวมวลที่นำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินทางอ้อม (ILUC) ในขณะที่ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเป็นวัตถุดิบในการผลิตนํ้ามันไบโอดีเซลในสหภาพยุโรปจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้นํ้ามันปาล์มมีราคาลดลงจากอุปทานในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซียอาจทำการส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ อินเดีย จีน และประเทศในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ ความต้องการใช้นํ้ามันปาล์มเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของการนำเข้านํ้ามันปาล์มทั้งหมดหรือมากกว่า 3 ล้านตัน/ปี จะได้รับประโยชน์จากราคาที่ลดลง โดยภาคอุตสาหกรรมอาจเปลี่ยนมาใช้นํ้ามันปาล์มแทนนํ้ามันพืชชนิดอื่นที่มีราคาสูงกว่า อย่างไรก็ตาม อุปทานนํ้ามันปาล์มเพื่อผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภคควรผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืน อาทิ มาตรฐาน Certified Sustainable Palm Oil (CSPO), Rainforest Alliance และ International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ตามรูปแบบความต้องการของผู้บริโภคในยุโรป

จะเห็นได้จากบริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่อย่างช็อกโกแลต Nutella, Ferrero Roche, Kinder, Mars, m&m, รวมถึงอาหารสัตว์ Pedigree, whiskas, Royal Canin และอื่นๆ ต่างให้คำมั่นว่าบริษัทจะใช้วัตถุดิบจากนํ้ามันปาล์มที่มีมาตรฐานความยั่งยืนเท่านั้น โดยตัวเลขการนำเข้านํ้ามันปาล์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม อาหารของสหภาพยุโรปก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 300,000 ตันในปี 2555 เป็น 2.5 ล้านตันในปี 2559

โปรดติดตามโอกาสของนํ้ามันปาล์มไทยในตลาดสหภาพยุโรปในตอนต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อ คิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

คอลัมน์ | หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,415 ระหว่างวันที่ 4-7 พฤศจิกายน 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว