กทม.จัดมาร์เก็ตซาวดิ้งสายสีเขียว หวังดึงเอกชนร่วมลงทุน

03 ส.ค. 2561 | 07:25 น.
กทม.เดินหน้ารับฟังความเห็นนักลงทุน ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว  หลังช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ งานก่อสร้างแล้วเสร็จ คาดเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี61 ขณะช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต งานโยธาแล้วเสร็จและเปิดเดินรถปี 2563

เริ่มแล้วรับฟังความเห็นนักลงทุนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding)งานศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย (ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต)

ทั้งนี้นายสมพงศ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ส่วนงานโยธานั้นได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ยังคงเหลืองานระบบ โดยจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณปลายปี พ.ศ. 2561 ส่วนช่วงเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่–คูคต ตามกำหนดการคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ประมาณปี พ.ศ. 2563

โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง ทางคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน2558 เห็นชอบในหลักการให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเขียวใต้ แบริ่ง – สมุทรปราการ และช่วงเขียวเหนือ หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และทางคณะรัฐมนตรีได้รับทราบมติการประชุมของ คจร. แล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559

ทั้งนี้การสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชนดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 โดยในการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย นักลงทุน ผู้ให้บริการเดินรถ สถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผู้บริหาร ผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการตลอดจนกรอบแนวคิดแนวทางการดำเนินงาน และกรอบเวลาสำหรับการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชนในการร่วมลงทุนกับภาครัฐสำหรับการดำเนินงานโครงการในรูปแบบต่างๆ

โดยกรุงเทพมหานครได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนาในทุกๆ ด้าน เช่น ความเป็นไปได้ของการลงทุน ปัญหาอุปสรรค และรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนที่เหมาะสมต่อไป

โดยในการดำเนินการปัจจุบันจะมีกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ การเคลียร์ภาระหนี้สินที่ยังไม่เรียบร้อย การโอนจะมีการกู้เงินจากกระทรวงการคลังที่อยู่ระหวางการนำเสนอสภากทม.พิจารณา ภายใน 1 เดือนนี้ หากสำเร็จก็จะนำเงินไปชำระหนี้ราว 5.4 หมื่นล้านบาทต่อไป ส่วนพีพีพีจะเป็นการหาเงินมาชำระหนี้ที่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จในภายหลังการเดินรถได้

ทั้งนี้กทม.จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนที่จะเข้าร่วมลงทุนกับภาครัฐ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนและภาครัฐเป็นสำคัญ เพื่อให้โครงการดำเนินทันตามแผนงานและกรอบเวลาที่จะให้เปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ช่วง และเป็นไปตามนโยบาย NOW “ทำจริงเห็นผลจริง” ของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

“รายละเอียดในเชิงลึกจะขอให้รอผลการศึกษาแล้วเสร็จก่อนว่าจะใช้รูปแบบร่วมลงทุนใดจึงจะเหมาะสม ขณะนี้ดำเนินการควบคู่กันไปกับการเปิดเดินรถในปลายปีนี้ได้ เพราะกระบวนการร่วมลงทุนจะต้องเสนอสภากรุงเทพมหานครเห็นชอบ ก่อนเสนอกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง คณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(คณะกรรมการพีพีพี) พิจารณาคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 9 เดือนโดยหากชัดเจนแล้ว เบื้องต้นนั้นจะใช้เป็นค่าการลงทุนงานโยธาที่กำหนดวงเงินลงทุนไว้ราว 4.4 หมื่นล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ประมาณ 1หมื่นล้านทบทวนรวมทั้งสิ้น 5.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีรายละเอียดประกอยการพิจารณาดังนี้คือ  1.ปีพ.ศ.2562-2572 แนวเส้นทางหลัก เอกชนผู้ให้บริการรายปัจจุบันจะดำเนินการต่อภายใต้สัญญาสัมปทานและสิ้นสุดในปี พ.ศ.2572 แนวเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 จะให้บริการโดยเอกชนผู้ให้บริการในปัจจุบัน ภายใต้สัญญาจ้างดำเนินการจนกระทั่งปี พ.ศ.2572 (โดยมีเงื่อนไขให้ยกเลิกสัญญาก่อนปี พ.ศ.2585

ปี พ.ศ.2573-2602 เอกชนรายใหม่จะสามารถเข้ามาบริหารจัดการโดยจัดเก็บรายได้ ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้ง 3 ช่วงของสายทาง ภายใต้สัญญาสัมปทานใหม่ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี