เร่งศึกษาสถานีไอซีดี สนข.เล็งหาที่แปดริ้วรองรับขนส่งสินค้ารถไฟทางคู่

23 ส.ค. 2561 | 07:19 น.
สนข.เดินหน้าศึกษาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (ICD) ฉะเชิงเทรา ให้แล้วเสร็จก.พ.62 คู่ขนานรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง เชื่อม 3 ท่าเรือ ด้วยงบลงทุนรวมราว 6.8 หมื่นล้านบาท หวังเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มเป็น 4 ล้านตู้ต่อปี ส่วนการจัดหาพื้นที่ยังชั่งใจจะซื้อหรือเวนคืนที่ดิน

โครงการพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3ท่าเรือ และระบบการจัดการขนส่งแบบบูรณาการทั้งรถไฟและท่าเรือแบบไร้รอยต่อ ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญของการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟจาก 7% เพิ่มขึ้นเป็น 30% เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลกและเป็นประตูสู่เอเชียทางทะเล โดยมีเป้าหมายเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟทางคู่กับ 3 ท่าเรือ และพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV และจีนตอนล่าง
5 ทั้งนี้ มีแนวทางดำเนินงานในระยะเร่งด่วนได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทาง 125 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-สัตหีบ-มาบตาพุด ระยะทาง 75 กิโลเมตร และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(ICD) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชา ผ่านจังหวัดสระแก้ว โดยจะใช้งบการลงทุนทั้ง 3 โครงการราว 6.8 หมื่นล้านบาท

โดยในส่วนของสถานี ICD นั้น ล่าสุดได้มีการจัดรับฟังความเห็นครั้งที่ 1 ไปแล้วเพื่อนำข้อเสนอแนะไปจัดทำทีโออาร์
ตามรูปแบบรัฐร่วมการลงทุนกับเอกชนหรือพีพีพีการร่วมลงทุนโดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนจัดหาที่ดินและระบบสาธารณูปโภคส่วนเอกชนเป็นผู้บริหารจัดการและจัดหาเครื่องมือ
4 นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยว่าสถานี ICD อยู่ระหว่างเร่งศึกษาโครงการใช้งบราว 40 ล้านบาท  คู่ขนานไปกับการศึกษาโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง ที่ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาทเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายในการรับสินค้าจาก 3 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือสัตหีบ ซึ่งจะช่วยให้การขนส่งสินค้าผ่านทางรถไฟให้ได้ 4 ล้านตู้ต่อปี จากปัจจุบัน 1.4 ล้านตู้ต่อปี และจะช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าจากรูปแบบเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 24 ชั่วโมง เหลือประมาณ 8 ชั่วโมง ซึ่งใช้ระยะเวลาการศึกษาประมาณ 9 เดือนแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างได้ในปลายปี 2562 และจะเปิดดำเนินการได้พร้อมกับรถไฟทางคู่ทั้ง 2 เส้นทาง ที่จะแล้วเสร็จอย่างช้าในปี 2565

[caption id="attachment_298650" align="aligncenter" width="503"] ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ[/caption]

“สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์(ไอซีดี)ปัจจุบันใช้บริการได้ที่ลาดกระบังแต่มีปริมาณรองรับไม่เพียงพอ เกิดความแออัดจึงต้องเร่งหาสถานที่ใหม่มารองรับ โดยพบว่าพื้นที่ฉะเชิงเทรามีความเหมาะสมมากที่สุด เกาะแนวรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-แก่งคอย ซึ่งต้องดูว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมที่จะนำไปดำเนินการ มีความคุ้มค่าด้านการลงทุนหรือไม่”

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดหาพื้นที่ก่อสร้างสถานี ICD ราว 500-600 ไร่นั้น  อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะจัดหาซื้อที่ดินเองหรือต้องเวนคืนพื้นที่ ซึ่งจะต้องรอดูผลการศึกษาอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นอย่างไร และรูปแบบไหนจะมีความเหมาะสมมากที่สุด
3 โดยบริษัทที่ปรึกษาจะต้องไปศึกษารายละเอียดทั้งหมด ว่าใช้พื้นที่มากน้อยแค่ไหน ไปดูปริมาณสินค้าที่จะเข้า-ออกว่ามีมากน้อยอย่างไรในอนาคตให้สอดคล้องกับการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกตลอดจนการเติบโตของท่าเรือทั้ง 3 แห่ง พร้อมกับแนวโน้มการเติบโตของระบบรางในพื้นที่ว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการพัฒนาได้อย่างไรเบื้องต้นนั้นนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีต้องการให้ท่าเรือแหลมฉบังรองรับได้ทั้งกลุ่มประเทศ CLMV ไม่ใช่รองรับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

PHoTO : Laemchabang Port
……………….
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 ก.ค. 2561