แห่ออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุน

18 ก.ค. 2561 | 09:29 น.
แบงก์ประสานเสียง ดอกเบี้ยนโยบายไม่ขยับช่วงนี้ จับตาผู้ประกอบการแห่ออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนที่จะพุ่งขึ้น ดึงนักลงทุนโยกเงินซื้อพันธบัตรหุ้นกู้ หนีตลาดหุ้นผันผวนและดอกเบี้ยขาขึ้น

ท่ามกลางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายของนักลงทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ เฟด และความกังวลจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กังวลว่าจะก่อให้เกิดสงครามการค้าอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีคาดการณ์ทิศทางจากนี้ไปจะเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงไทยด้วย จากการที่คณะกรรมการนโยบายคงดอกเบี้ยในระดับ 1.5% มานาน

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทยเปิดเผยว่า ยอมรับว่าทิศทางดอกเบี้ยได้รับความกดดันจากเฟด ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเรื่อยๆ เงินทุนจะไหลออก กดค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งผู้ส่งออกจะได้ประโยชน์ แต่ดอกเบี้ยนโยบายยังจำเป็นต้องช่วยชาติต่อไป และไม่น่าจะปรับขึ้นในขณะนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีมาก แม้อัตราดอกเบี้ยจะไม่ใช่ปัจจัยกระตุ้นการเติบโต แต่ถ้าขึ้นดอกเบี้ยช่วงนี้ก็ไม่ช่วยอะไรเช่นกัน และยังต้องรอให้ความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้านิ่งด้วย

ktb

 

นายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในแง่ตลาดเงินตลาดทุน จะเห็นแนวโน้มที่ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านพันธบัตรและหุ้นกู้ในปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินที่จะสูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ภาคธุรกิจต้องบริหารต้นทุน ขณะที่นักลงทุนเตรียมรอโยกเงินไปลงทุนในหุ้นกู้และพันธบัตร เพราะนอกจากผันผวนน้อยกว่าหุ้นแล้วยังคาดหวังผลตอบแทนที่จะสูงขึ้นในตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ด้วย

ส่วนของธุรกิจรายย่อยนั้น นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า แนวโน้มจะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว โดยเห็นได้จากการขยับลดเวลาคงที่จาก 3 ปี เป็น 2 ปี จนเหลือ 1 ปี หรือโปรโมชันที่ธนาคารทำร่วมกับผู้ประกอบการเฉลี่ยคงที่ 3 ปี ดอกเบี้ยตํ่ากว่า 3% ต่อปี จะหายากขึ้น เพราะต้นทุนเงินไปรอก่อนหน้าแล้ว จึงเห็นอัตราดอกเบี้ยโปรโมชันที่อัตรา 2.8% ต่อปีเริ่มขยับขึ้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยกล่าวว่า ถ้าดอกเบี้ยเพิ่ม 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวมเป็น 0.50% ตามที่คาดไว้อาจกระทบกลุ่มคนมีหนี้สูงบ้าง ไม่ว่าคนระดับฐานรากที่หาเช้ากินคํ่าและภาคเกษตรที่ราคาสินค้ายังตํ่า โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องปรับลดค่าใช้จ่ายลง แต่หากดอกเบี้ยปรับขึ้น 0.25% จะไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

“ต้องติดตามธปท.ว่า จะดำเนินนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็ว แรงแค่ไหน ขึ้นช้าขึ้นน้อย ส่งสัญญาณชัด ถ้าดอกเบี้ยขึ้นแบบอดีตคือ เพิ่มทุกรอบของการประชุมหรือขึ้นดอกเบี้ยรอบเว้นรอบ โดยสังเกตที่ผ่านมาธปท.จะใช้คำว่า Policy Space คือ จะเริ่มเก็บกระสุนในการดำเนินนโยบาย”

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่38  ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15 - 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว