คมนาคมไฟเขียว! แผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 23 ลำ 'ทีจี' มูลค่า 1 แสนล้านบาท

11 ก.ค. 2561 | 08:31 น.
คมนาคมไฟเขียว! แผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 23ลำ 'ทีจี' มูลค่า 1 แสนล้านบาท ด้าน คนร. เห็นชอบ "เอกนิติ" นั่งประธานบอร์ดบินไทย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า กระทรวงคมนาคมเห็นชอบแผนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ของการบินไทย เพื่อทดแทนเครื่องบินเดิมที่จะปลดระวาง จำนวน 23 ลำ มูลค่าการลงทุนราว 1 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเพิ่มเติมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ในเดือน ส.ค. นี้ จากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา คาดว่าจะอยู่ในช่วงเดือน ก.ย. นี้

ด้าน แหล่งข่าวระดับสูงจากการบินไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนการลงทุนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 23 ลำ มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1 แสนล้านบาท เป็นกรอบลงทุนที่เป็นการลงทุนในการจัดซื้อเครื่องบินรวมเครื่องยนต์และอุปกรณ์ภายในเครื่องบิน เป็นแผนลงทุน 5 ปี (2561-2565) ซึ่งขอยืดหยุ่นให้การบินไทยสามารถจัดซื้อเครื่องบินได้ทั้งเครื่องบินลำตัวกว้างและลำตัวแคบ ที่เหมาะสมตามแผนการขยายเน็ตเวิร์คของการบินไทยในช่วง 5 ปีนี้ ซึ่งตามแผนการใช้เครื่องบินจะโฟกัสที่จุดบินของการบินไทยในปัจจุบันเป็นหลักและแผนที่อยากจะขยายในช่วง 5 ปีนี้ (ยังไม่รวมแผนเปิดจุดบินไปสหรัฐอเมริกา) แทนที่จะระบุว่า ต้องนำมาทดแทนเครื่องบินที่จะปลดระวาง 19 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินพิสัยไกล 17 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ

"การยืดหยุ่นเช่นนี้จะทำให้การบินไทยสามารถซื้อเครื่องบินมาทดแทนเครื่องบินที่จะปลดระวาง 19 ลำ และยังอาจทำให้การบินไทยมีเครื่องบินมาใช้งานได้เพิ่มขึ้น และแผนดังกล่าวจะเป็นกรอบการลงทุนเฉพาะในส่วนของการบินไทย ไม่รวมการจัดหาเครื่องบินของไทยสมายล์ จำนวน 9 ลำ ที่จะไม่นำมารวม เพราะเป็นการต่อสัญญาการเช่าเครื่องบินเท่านั้น จากจำนวนเครื่องบินที่จะปลดระวางทั้งหมด 28 ลำ ซึ่งเป็นของการบินไทย 19 ลำ เป็นเครื่องบินพิสัยไกล 17 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ ส่วนอีก 9 ลำเป็นเครื่องบินบินลำตัวแคบ ที่เป็นการเช่าดำเนินการสำหรับสายการบินไทยสมายล์"

ส่วนกรอบที่ขออนุมัติไป จะเป็นแค่พิสัยของเครื่องบินที่มีทั้งลำตัวแคบและกว้าง ยังไม่ได้ระบุรุ่นเครื่องบินที่จัดซื้อ เพราะการจัดซื้อที่จะเกิดขึ้นเป็นสเต็ปต่อไปหลังจาก ครม. อนุมัติ ซึ่งการจะซื้อเครื่องบินรุ่นใดของแอร์บัส หรือ โบอิ้ง จะพิจารณาจากใครที่ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดให้การบินไทย และต้องเป็นเครื่องบินนิวเจเนอเรชั่นมีเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เครื่องบินพิสัยไกล อาทิ แอร์บัส 350-1000 และโบอิ้ง787-10

อย่างไรก็ตาม จากการจัดหาฝูงบินที่เกิดขึ้น ทำให้การบินไทยเตรียมการเสนอขายตราสารหนี้ประเภทหุ้นกู้ และหรือหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน (ตราสารหนี้ฯ) จำนวน 8 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (2561-2565) สำหรับนำไปใช้คืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดและหรือใช้คืนหุ้นเงินกู้ วงเงิน 4 หมื่นล้าน โดยจะใช้คือในปี 2561 วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ปี 2562 วงเงิน 9 พันล้านบาท ปี 2563 วงเงิน 6 พันล้านบาท ปี 2564 วงเงิน 6 พันล้านบาท และปี 2565 วงเงิน 9 พันล้านบาท และแผนจัดหาฝูงบินใหม่ ที่ต้องเตรียมการรองรับการจ่ายค่ามัดจำในล็อตแรก ที่คาดว่าหลังจากการสั่งซื้อเครื่องบิน จะต้องใช้เวลาราว 14-28 เดือน ในการรับมอบเครื่องบิน ซึ่งคาดว่าจะทยอยรับมอบเครื่องบินลำแรกได้ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2563

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 การบินไทยได้ประกาศแต่งตั้ง นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส เป็นประธานกรรมการ บริษัท การบินไทย หลังจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เห็นชอบตามมติบอร์ดการบินไทย ที่ได้เสนอชื่อ นายเอกนิติ เป็นประธานกรรรมการบริษัทฯ ในการประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2561


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การบินไทยเผยยังบินไป "โอซากา" ตามปกติ หลังเกินเหตุแผ่นดินไหว
"สุเมธ ดำรงชัยธรรม" ดีดีใหม่การบินไทย


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว