"จีดีพี" ไม่ตอบโจทย์เศรษฐกิจจริง! "เวิลด์แบงก์" ชี้พัฒนาคนสะท้อนความมั่งคั่ง

24 ก.ค. 2561 | 12:59 น.
เวิลด์แบงก์ชี้ โจทย์เศรษฐกิจยั่งยืนยุคเปลี่ยนผ่าน “เทคโนโลยี-สังคมสูงวัย” ต้องเร่งพัฒนาคนควบคู่กับธรรมชาติ สะท้อนความมั่งคั่ง ระบุใช้จีดีพี ไม่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงในระยะยาว เตือนระวังช่องว่างจากความเหลื่อมลํ้าของความมั่งคั่ง

จากผลศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงความมั่งคั่งแห่งชาติสู่การสร้างอนาคตที่ยั่งยืน” โดยคณะผู้จัดทำทั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา(องค์การมหาชน) หรือ ITD กับ ธนาคารโลกได้รวบรวมข้อมูลความมั่งคั่ง 141 ประเทศทั่วโลกกว่า 1,500 ครัวเรือน ระหว่างปี 2538-2557 พบว่า ความมั่งคั่งโลกเพิ่มขึ้น 66% จาก 690 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปอยู่ที่ 1,143 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากประเทศรายได้ระดับกลางที่เพิ่มจาก 19% มาอยู่ที่ 28% ขณะที่ประเทศรายได้สูงมีสัดส่วนลดลงจาก 75% มาอยู่ที่ 65% สะท้อนปรากฏการณ์ “ความรุ่งโรจน์แห่งเอเชีย”(Rise of Asia) ซึ่งภายในหนึ่งชั่วอายุคนของการเปลี่ยนผ่านสถานะดังกล่าวนั้น ยังต้องระวังการเกิดช่องว่างจากความเหลื่อมลํ้าของความมั่งคั่ง

MP23-3380-A

นายเควนติน วอดอน ผู้แทนจากธนาคารโลกเปิดเผยว่า รายงานชิ้นนี้ได้นำตัวชี้วัดอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ 4 ด้านคือ ทุนด้านการผลิต ทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ ทุนมนุษย์ และการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งสามารถแสดงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในระยะยาวและสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศออกมาได้ ขณะที่การใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ยังไม่สะท้อนภาวะที่แท้จริงของเศรษฐกิจประเทศนั้นๆในระยะยาว

ทั้งนี้ แม้บางประเทศจะมีอัตราเติบโตของความมั่งคั่งต่อหัวต่อคนสูง แต่การขยายตัวของประชากรน้อย จีดีพีที่สูงขึ้นจึงไม่สะท้อนว่า เศรษฐกิจดีขึ้นจริงๆ ดังนั้นจำนวนประชากรที่เติบโตรวดเร็วและอยู่ในวัยหนุ่มสาวจะเป็นประโยชน์มาก กรณีที่มีการลงทุนเพียงพอและเหมาะสมกับแรงงานคนรุ่นใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนควบคู่ไปด้วย ทุนทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนา

ตามรายงานฉบับนี้ได้กำหนดทุนทรัพย์เป็น 2 ประเภทคือ ทุนที่สร้างเอง (Renewable) และทุนที่ไม่ได้สร้างเอง (Non-
Renewable) ซึ่งประเทศรายได้ตํ่าส่วนใหญ่พึ่งพาทุนด้านนี้ถึง 27% ของความมั่งคั่งทั้งหมด โดยปี 2557 ทุนทรัพยากรธรรมชาติมีสัดส่วนถึง 47% ของความมั่งคั่งทั้งหมด
GDP ขณะที่ประเทศรายได้ปานกลาง-รายได้สูงจะมีการพึ่งพาทุนมนุษย์มากขึ้นถึง 70% จากการที่หลายประเทศหันมาเพิ่มการพัฒนาทุนด้านการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะเพิ่มการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งการก้าวข้ามจากสถานะประเทศที่ยากจนและไม่มีทุนทรัพย์ที่สร้างเอง ไปสู่การเป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้จะต้องเน้นการลงทุนในทุนมนุษย์โครง สร้างพื้นฐาน และทุนการผลิตอื่นๆ ยกเว้นประเทศตะวันออกกลางที่ยังพึ่งพาทุนธรรมชาติสูง แต่วันหนึ่งจะหมดสิ้นไป เนื่องจากเป็นทุนทรัพย์ที่ไม่ได้สร้างเอง (Non-Renewable)

ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทุนทรัพยากรธรรมชาติมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว แบ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใหม่ได้อย่างนํ้ามันดิบ มูลค่าเพิ่มขึ้น 308% ขณะที่ทรัพยากรที่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ อย่างที่ดินการเกษตร ขยายตัว 44% เป็นผลจากการบริหารจัดการเช่น การพัฒนาป่าไม้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในพื้นที่การเกษตรและตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยช่วยให้แรงงานและประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจึงใช้เทคโนโลยีและการจัดการที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือได้

การนำทุนมนุษย์มาเป็นเครื่องชี้วัดความมั่งคั่ง โดยพิจารณาจากมูลค่ารายรับรวมในอนาคตที่คาดว่าจะได้รับจากแรงงานตลอดอายุการทำงานของแรงงาน 1 คน โดยปี 2557 ทุนมนุษย์เฉลี่ยต่อคนมีมูลค่า 108,654 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากปี 2538 ซึ่งอยู่ที่ 88,874 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งทั่วโลกและยังพบว่า ทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพและมีฝีมือจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลกอย่างยั่งยืน

หน้า23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว