เปิดทางลูกจ้างลงทุนกบช. ‘วรวรรณ’เดินหน้าค้านตั้งสำนักงาน

06 ก.ค. 2561 | 06:02 น.
สศค.ระบุร่างพ.ร.บ.กบช.ผ่านกฤษฎีกาแล้ว รอบรรจุเข้าสนช.วาระ 1 ดันสร้างวินัยการออมภาคประชาชน รองรับสังคมสูงอายุ ด้าน “วรวรรณ ธาราภูมิ” เดินหน้าค้านตั้งสำนักงานกบช.ชี้เปลืองงบประมาณ

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัดเปิดเผยว่า ยังไม่เห็นด้วยกับการที่ทางการจะตั้งสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ(กบช.)เพื่อเข้ามาบริหารจัดการกองทุนตามร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กบช. เพราะเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน ภาครัฐควรทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายโดยเร็ว จากนั้นควรให้อิสระกับประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินว่า จะเลือกลงทุนกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ(RMF) กับบริษัทใด เพราะขณะนี้ในตลาดมีเกือบ 200 กองทุนและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเจ้าของเงินด้วย

[caption id="attachment_295675" align="aligncenter" width="503"] วรวรรณ ธาราภูมิ วรวรรณ ธาราภูมิ[/caption]

“รัฐไม่ควรเข้ามาเป็นผู้เล่นเสียเอง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะเงินกองทุนนี้มาจากเงินของลูกจ้างและนายจ้าง ไม่มีเงินจากภาครัฐมาสนับสนุน และรัฐก็ไม่ควรใส่เงินเข้ามาสนับสนุนเพราะจะเป็นภาระงบประมาณมหาศาลในอนาคต และการที่บอกว่า จะเลือกบลจ. 2-3 แห่งมาบริหารนั้นก็ยิ่งไม่สมควร ควรให้แข่งขันเสรี เพราะการเปิดเสรีจะทำให้เกิดการแข่งขัน ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับประชาชน”
นายวโรทัย-โกศลพิศิษฐ์กุล ด้านนายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.กบช.ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติวาระ1 ซึ่งสศค.ผลักดันกฎหมายดังกล่าวเพื่อสร้างวินัยการออมเงินภาคบังคับให้กับประชาชนที่อยู่ในวัยทำงาน ให้มีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในช่วงชีวิตหลังเกษียณอายุในรูปแบบการรับบำเหน็จหรือบำนาญจากกองทุน ซึ่งต่างจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นการออมภาคสมัครใจ
MP19-3376

ทั้งนี้กบช.จะบังคับใช้กับลูกจ้างเอกชน ลูกจ้างชั่วคราวส่วนราชการ พนักงานราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและเจ้าหน้าที่องค์การมหาชนที่มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปี โดยลูกจ้างและนายจ้างต้องนำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราเท่ากัน โดยในปีที่ 1-3 ปีที่ 4-6 ปีที่ 7-9 และตั้งแต่ปีที่ 10 เป็นต้นไปจะให้ลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละไม่น้อยกว่า 3%, 5%, 7% และไม่เกิน 10% ของค่าจ้างตามลำดับ แต่กรณีลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างตํ่ากว่า 10,000 บาทต่อเดือน จะให้นายจ้างเป็นผู้ส่งเงินสมทบฝ่ายเดียว และเมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกจ้างจะได้รับผลตอบแทนเป็นบำเหน็จหรือบำนาญรายเดือน

ส่วนการเข้าสู่ระบบกบช. กิจการเอกชนที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานรัฐที่อยู่ในบังคับของกฎหมาย กบช. กิจการที่ได้รับ BOI กิจการที่ต้องการเข้าระบบ กบช.เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 2 นับจากกฎหมายประกาศใช้ กิจการเอกชนที่มีลูกค้าตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปี 5 นับจากกฎหมายประกาศใช้และกิจการเอกชนที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่ 7 นับจากกฎหมายประกาศใช้

“คณะกรรมการ กบช.จะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนและคัดเลือกผู้บริหารเงินในกองทุน แต่ให้ลูกจ้างเป็นผู้เลือกแผนการลงทุน และจะมี Default Policy สำหรับสมาชิกที่ไม่เลือกนโยบายที่กองทุนจัดให้”
………………

หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,376 วันที่ 21-23 มิ.ย. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว