Q1นกแอร์ ขาดทุนเหลือ 26.88 ล้านบาท จากแผนฟื้นฟูธุรกิจที่เห็นผลอย่างมีนัยสำคัญ

11 พ.ค. 2561 | 04:27 น.
นกแอร์ แจงผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2561 ของสายการบินนกแอร์ ยังคงปรับตัวดีขึ้น โดยสามารถลดการขาดทุน ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาตัวแปรที่สำคัญทั้งหมดภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

- 11 พ.ค. 61 - เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2561 สามารถลดการขาดทุนรวมลงได้อย่างมากจาก 295.57 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 26.88 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

แม้ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงจะเพิ่มสูงขึ้น แต่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 5.6% จากไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็น 4.32 พันล้านบาท เนื่องจากต้นทุนเฉลี่ยต่อที่นั่งลดลง และอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) มีการปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแผนการฟื้นฟูธุรกิจของสายการบินให้ผลลัพธ์อย่างดีเยี่ยม และสายการบินกำลังแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง" MP26-3242-C

การปรับรูปแบบการจองบัตรโดยสารและแผนการตลาดใหม่ๆ ทำให้นกแอร์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจได้มากขึ้น เนื่องจากเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายกลุ่ม และสามารถควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเพิ่มประสิทธิดังกล่าวมีส่วนทำให้ผลประกอบการโดยรวมของสายการบินดีขึ้น

“การพัฒนาและดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางไว้ในไตรมาสแรกนั้น ทำให้นกแอร์สามารถรับมือกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นได้ 23.2% เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน” นายปิยะ กล่าวเสริม

สายการบินสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารได้ในไตรมาสแรกนี้ ซึ่งทำให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่ 93.8% เพิ่มขึ้น 6.1 จุด จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สายการบินมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3.83% โดยมีจำนวนผู้โดยสารจำนวน 2.52 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 2.43 ล้านคน ซึ่งเป็นผลมาจากผู้โดยสารที่เดินทางในเส้นทางบินจีนที่เพิ่มมากขึ้น Nok-Air-logo

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สายการบินมีการเพิ่มการให้บริการในเส้นทางบินจีนเป็น 19 เมือง จากเดิม 8 เมือง ทำให้จำนวนผู้โดยสารเฉพาะในเส้นทางบินนี้เพิ่มขึ้นจาก 94,302 คน เป็น 235,363 คน หรือเพิ่มขึ้น 149.57% เป็นผลให้รายได้ในเส้นทางบินจีนมีสัดส่วนอยู่ที่ 19.82% ของรายได้โดยรวมของสายการบิน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 7.51%

ในไตรมาสนี้นกแอร์สามารถเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินต่อลำ (Aircraft Utilization) ได้เป็น 10 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน จากเดิมที่ 8.23 ชั่วโมงปฏิบัติการการบินต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 21.5%

ปลายไตรมาสที่ผ่านมา นกแอร์มีเครื่องบินอยู่ในฝูงบินจำนวน 29 ลำ ลดลงจากจำนวนฝูงบินเฉลี่ยอยู่ที่ 31.26 เมื่อปีที่แล้ว และสายการบินได้เพิ่มเส้นทางบินภายในประเทศเพิ่มขึ้น 2 เส้นทาง ทำให้ในไตรมาสแรกนกแอร์มีเส้นทางบินภายในประเทศจำนวน 25 เส้นทาง ในขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศยังคงเดิมอยู่ที่ 3 เส้นทางบิน