กทท.เปิดฟังความเห็นท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3เอกชน230รายร่วมวง

02 พ.ค. 2561 | 07:36 น.
เอกชนกว่า230 รายร่วมเปิดเวที Market sounding ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 กทท.ฟังเสียงเอกชน มุ่งสู่ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าทางน้ำของภูมิภาคและก้าวสู่ระดับ 20 ท่าเรือชั้นนำของโลก

วันนี้ (2 พ.ค. 61)ที่โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อสร้างการรับรู้ ดึงดูดความสนใจ และรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจทั้งภายในและต่างประเทศ โดยวันนี้มีผู้ประกอบการภาคเอกชนให้ความสนใจทั้งจากในและต่างประเทศเข้าร่วม พร้อมกับจะเร่งผลักดันให้ท่าเรือของไทยก้าวสู่ท่าเรือ 20 ระดับชั้นนำของโลกต่อไป

pilin

ด้านร้อยตำรวจตรีมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังกล่าวว่า วันนี้มีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงานจำนวนกว่า 230 ราย

ทั้งนี้โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558-2565 และเป็น 1 ใน 5 โครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ภายใต้วิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง และเชื่อมต่อการค้าการพาณิชย์อย่างต่อเนื่องด้วยเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่ครบวงจร ด้วยการนำระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation และไร้รอยต่อเข้ามาบริหารจัดการ ควบคู่กับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมพร้อมส่งเสริมศักยภาพการขนส่งทางน้ำของประเทศ

เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการสู่ความสำเร็จ การท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้สนใจจากภาคเอกชน ทั้งจากภายในและต่างประเทศร่วมลงทุนในโครงการตามรูปแบบ PPP โดยจะมีการศึกษารูปแบบแนวทางการลงทุน และนำเสนอต่อภาคเอกชนผ่านการจัดสัมมนา 3 ครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด โดยภายในงานมีการสัมมนา “โครงการท่าเรือแหลมฉบบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ และเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครรัฐและเอกชน (PPP)” โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและแผนงาน ศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง และรายละอียดโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการ

port

สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 จะผลักดันให้เป็นท่าเรือที่ล้ำสมัย ด้วยการพัฒนาระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แบบเบ็ดเสร็จ (One Stop e-Port Service) และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลแบบบูรณาการ ควบคู่กับการพัฒนาเป็นท่าเรือสีเขียว (Green Port) ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการ สร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนการแข่งขัน ดึงดูดความสนใจจากสายการเดินเรือชั้นนำจากทั่วทุกมุมโลก

โครงการมีพื้นที่รวมกว่า 1,600 ไร่ประกอบด้วยท่าเทียบเรือตู้สินค้าจำนวน 4 ท่า ความยาวรวม 4,420 เมตร และลานกองเก็บตู้สินค้าแอ่งจอดเรือลึก18.5เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทตู้ได้ถึง 7 ล้าน TEU ต่อปีท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Domestic) 1 ท่า มีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้า 1 ล้านTEU ต่อปี และท่าเรือขนส่งรถยนต์ 1 ท่าสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าประเภทรถยนต์ได้ถึง 1 ล้านคันต่อปีรวมถึงสามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟได้ 4 ล้าน TEU ต่อปีหรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของการขนส่งตู้สินค้าทั้งหมด

โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 เพื่อให้รองรับการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟและเพิ่มระบบจัดการขนตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนและผู้สนใจ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการออกแบบรายละเอียด และจึงประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน แล้วจึงเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2562

port3

เมื่อท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เปิดให้บริการ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านตู้ต่อปี เป็น 18.1 ล้านตู้ต่อปี ขนส่งรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจาก 2 ล้านคันต่อปีเป็น 3 ล้านคันต่อปี สัดส่วนสินค้าผ่านท่าโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือแหลมฉบังจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) จากร้อยละ 14 ของ GDP เหลือร้อยละ 12 ของ GDP ประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 250,000 ล้านบาท สามารถเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ภายในพื้นที่ท่าเรือ

สนับสนุนพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าเรือที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC และประเทศไทยในการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือ (Transshipment) จากเรือขนสินค้าขนาดเล็ก (Feeder)ไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและประเทศจีนตอนใต้ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว