ดัชนีความเชื่อมั่นฯมี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในปท.และตปท.

26 เม.ย. 2561 | 07:28 น.
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มี.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในประเทศ และต่างประเทศ การเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดสงกรานต์, SME ยังกังวลค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าเงินบาท

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมีนาคม 2561 จำนวน 1,044 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.5, 36.8, 31.7 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนมีนาคม ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยในช่วงเดือนเมษายนที่มีวันทำงานน้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนจากดัชนีฯ ปริมาณการผลิต และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ อาหาร รองเท้า และการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งส่งผลดีต่อยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายในประเทศ ขณะเดียวกันคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังขยายตัวดีต่อเนื่อง

sapa

 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการส่งออก
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 100.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ 102.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลต่อมาตรการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
1. แก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับผู้ประกอบการ SMEsเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ

2. สนับสนุนการหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุน และป้องกันความเสี่ยงจากสงครามการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

3. ส่งเสริมการฝึกอบรมแบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงาน และลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ

4. สนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจผ่าน E-Commerce เพื่อเพิ่มช่องทางการค้า

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว