เข้าใจสงครามการค้า ผ่าน "ทฤษฎีเกม"

16 เม.ย. 2561 | 08:32 น.
160461-1438

สงครามการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐฯ และจีน กลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกต่างจับตามองในช่วงนี้ ล่าสุด ทั้ง 2 ประเทศ ได้ประกาศรายชื่อสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้า อย่างไม่มีใครยอมใคร ในอดีตที่ผ่านมา สงครามการค้าสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กฎหมายของสหรัฐฯ ในปี 1930 (Smooth-Hawley Act) ที่เริ่มจากประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ (Herbert Hoover) ประกาศใช้กำแพงภาษีเพื่อปกป้องสินค้าเกษตรและสินค้าอื่น ๆ กว่า 900 รายการ และตามด้วยการที่ทุกประเทศเข้าร่วมสงครามการค้า จนพาเศรษฐกิจโลกทรุดหนัก เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจตลอดทศวรรษ 1930 (The Great Depression)

หลายท่านทราบดีว่า ไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากการทำสงคราม สงครามการค้าก็เช่นกัน แต่คำถามน่าคิด คือ หากไม่เคยมีใครได้ประโยชน์จากการทำสงคราม ทำไมเรายังอาจได้เห็นสงครามการค้าอุบัติขึ้นในโลกยุคปัจจุบัน ทฤษฎีเกม (Game Theory) สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้

 

[caption id="attachment_275741" align="aligncenter" width="334"] จอห์น แนช (John Nash) เจ้าของรางวัลโนเบล © wikipedia จอห์น แนช (John Nash) เจ้าของรางวัลโนเบล
© wikipedia[/caption]

รู้จัก ‘ทฤษฎีเกม’
ทฤษฎีเกม ถือกำเนิดจากเจ้าของรางวัลโนเบล อย่าง จอห์น แนช (John Nash) ที่คนส่วนใหญ่อาจรู้จักผ่านอัตชีวประวัติในหนังรางวัลออสการ์ อย่าง เรื่อง Beautiful Mind ตัวอย่างคลาสสิกหนึ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจทฤษฎีเกมได้ดี คือ Prisoner’s Dilemma ซึ่งจำลองเหตุการณ์ที่ 2 คนร้าย ถูกตำรวจจับ โดยนักโทษทั้ง 2 ถูกแยกกันสอบสวน ในเกมนี้ นักโทษ 2 คน เป็นผู้เล่นเกม (Players) และมีกลยุทธ์หรือทางเลือก (Strategy) อยู่ 2 ทาง คือ ร่วมมือกันปฏิเสธข้อหา (Cooperate) หรือ ทรยศและซัดทอดอีกฝ่าย (Defect) ดังแผนภาพ แสดงทางเลือกและผลลัพท์ (Payoff) จำนวนปีต้องโทษจำคุกของนักโทษตามลำดับ


GP-3357_180416_0005

หากนักโทษคนใดคนหนึ่งเลือกที่จะร่วมมือ แต่อีกฝ่ายกลับทรยศ ฝ่ายที่ทรยศจะพ้นผิด แต่ฝ่ายที่ร่วมมือจะได้รับโทษติดคุกนาน 10 ปี (ดังแผนภาพตำแหน่งล่างซ้ายและบนขวา) แต่หากทั้งคู่ทรยศ ก็จะได้รับโทษติดคุกนาน 8 ปี (ตำแหน่งล่างขวา) ในขณะที่ หากทั้งคู่เลือกที่จะร่วมมือ ทั้ง 2 จะได้รับโทษสถานเบาเท่ากัน คือ ติดคุกเพียงปีเดียว (ตำแหน่งบนซ้าย)

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกกลยุทธ์แบบใด การเลือกที่จะทรยศถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุด (Dominant Strategy) ที่จะทำให้นักโทษติดคุกน้อยกว่า หรือ อาจไม่ติดเลย แต่เนื่องด้วยกลัวว่า อีกฝ่ายจะทรยศ ทำให้ทั้งคู่เลือกที่จะทรยศแทนที่จะร่วมมือกัน และจบลงด้วยการได้รับโทษติดคุกนานสูงสุดคนละ 8 ปี โดยจุดนี้ เป็นจุดดุลยภาพแนช (Nash Equilibrium) ที่ผู้เล่นแต่ละฝ่ายเลือกกลยุทธ์ที่ดีที่สุด ภายใต้กลยุทธ์ที่คู่แข่งเลือก


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

‘ทฤษฎีเกม’ กับปรากฏการณ์สงครามการค้า
ตัวอย่างดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์สงครามการค้าได้อย่างไร หากเรามองภาพว่า ในเกมนี้ ผู้เล่น คือ สหรัฐฯ และจีน และกลยุทธ์หรืออาวุธที่ใช้ในการทำสงคราม ก็คือ มาตรการภาษีนำเข้าหรือการทำการค้าแบบเสรี โดยผลกระทบ ก็คือ สวัสดิการทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรการการค้าแบบต่าง ๆ

การเก็บภาษีนำเข้าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลให้ผู้บริโภคในประเทศลดปริมาณการบริโภคลง ผู้ผลิตได้รับประโยชน์จากการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า และรัฐบาลได้ประโยชน์จากรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากภาษีนำเข้าก่อให้เกิดการบิดเบือนการจัดสรรทรัพยากรการผลิตโลก จึงทำให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Deadweight Loss


GP-3355_180410_0005

อย่างไรก็ดี ในเหตุการณ์นี้ สหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ การจัดเก็บภาษีนำเข้าอาจทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าที่ถูกเก็บภาษีในตลาดโลกลดลงมาก เป็นผลให้ประเทศผู้ส่งออกต้องลดราคาเพื่อขจัดอุปทานส่วนเกินและทำให้ตลาดกลับเข้าสู่ดุลยภาพ เป็นผลให้อัตราการค้า (Terms of Trade) ของสหรัฐฯ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดังนั้น หากประโยชน์จากอัตราการค้าที่ดีขึ้นมีมากกว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สวัสดิการทางเศรษฐกิจสุทธิ (Net Welfare) ของประเทศที่เรียกเก็บภาษีนำเข้า ก็จะเพิ่มขึ้นได้ ภายใต้ข้อแม้ว่า อัตราภาษีนำเข้าจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimum Tariff) ด้วยเหตุนี้ การเก็บภาษีนำเข้าจึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดของสหรัฐฯ เช่นเดียวกันกับนักโทษคนที่ 1 ที่เลือกที่จะทรยศ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

กลับมาในฝั่งของจีน มาตรการเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ราคาในตลาดโลกลดลง สร้างภาระให้กับผู้ส่งออกอย่างจีน ทั้งในมิติปริมาณและราคาสินค้าส่งออกที่ลดลง ก่อให้เกิดความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจในประเทศผู้ส่งออก ซึ่งกำแพงภาษีนำเข้านี้ เป็นนโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก (Beggarthy Nighhbor) ที่ประเทศผู้จัดเก็บได้ประโยชน์บนความเสียหายของประเทศผู้ส่งออก

แต่เนื่องด้วยจีนก็เป็นประเทศใหญ่เช่นเดียวกับสหรัฐฯ หากจีนมีการเก็บภาษีนำเข้า ก็จะทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งนโยบายแบบปกป้องนี้ จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดของจีนเช่นกัน เทียบได้กับนักโทษคนที่ 2 เลือกที่จะทรยศ สอดคล้องกับเหตุการณ์จริง ที่จีนออกมาประกาศตอบโต้ (Retaliation) ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ

 

[caption id="attachment_275748" align="aligncenter" width="503"] (ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ขวา) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(ขวา) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน[/caption]

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่า นโยบายแบบปกป้องเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเลือกใช้กลยุทธ์แบบใด ส่งผลให้ต่างฝ่ายต่างขึ้นภาษีนำเข้า และจบลงที่จุดดุลยภาพแนช ที่ทั้งคู่สูญเสียสูงสุด เป็นที่มาของสงครามการค้านั่นเอง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีเกมอย่างเฉียบแหลม และอาจมีบทสรุปที่คล้ายคลึงกันกับ Prisoner’s Dilemma ที่นักโทษจะต้องจบลงด้วยการติดคุกจากการที่ทั้งคู่ต่างทรยศ ทั้ง ๆ ที่ทางออกที่ดีที่สุด ก็คือ การร่วมมือกัน


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

สำหรับผู้เล่นอย่างสหรัฐฯ และจีน ที่ผู้เขียนเชื่อว่า ทั้งคู่จะต้องจบลงด้วยการสูญเสียจากการใช้มาตรการภาษีนำเข้าฟาดฟันกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ทั้ง ๆ ที่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับโลกใบนี้และสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็คือ การทำการค้าแบบเสรี จะเป็นจริงตามที่ผู้เขียนเชื่อหรือไม่ มาติดตามกันค่ะ


……………….
บทความ โดย ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,357 วันที่ 15-18 เม.ย. 2561 หน้า 06


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม จากความกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนลดลง
เงินบาทอ่อนค่า31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯตลาดเงินผันผวนระยะสั้นห่วงสงครามการค้า


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว