เงินบาทอ่อนค่า31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯตลาดเงินผันผวนระยะสั้นห่วงสงครามการค้า

09 เม.ย. 2561 | 05:22 น.
9 เม.ย.61 เงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ จับตาตลาดการเงินระยะสั้นผันผวน เหตุนักลงทุนกังวลสงครามการค้า ลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ-อีซีบีกำหนดทิศนโยบายการเงิน มองกรอบเงินบาทวันนี้ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.26 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงจาก 31.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์แกว่งตัวใกล้ระดับ 90 จุดต่อ ท่ามกลางความกังวลสงครามการค้า ซึ่งส่งผลให้ตลาดการเงินปั่นป่วนและนักลงทุนปิดรับความเสี่ยงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในระยะสั้นนี้ค่าเงินดอลลาร์และตลาดการเงินโดยรวมยังมีโอกาสเผชิญความผันผวนได้ต่อ เนื่องจากตลาดยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและตลาดจะรอลุ้นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (Core CPI YoY) รายงานผลการประชุมเฟดในเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งตัวเลขผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียสหรัฐฯในไตรมาสที่1

สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากวันพุธ ตลาดจะจับตาตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI YoY) และ ตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI YoY) ของจีน โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อและดัชนีราคาผู้ผลิตในจีนจะยังคงอยู่ในระดับ 2.6% และ 3.4% ตามลำดับ สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจและผลกำไรของบริษัทจีนที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อ และในวันเดียวกัน ตลาดจะให้ความสนใจกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI YoY) โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI YoY) ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวขึ้นจากระดับ 1.8% สู่ระดับ 2.1% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจะช่วยหนุนโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 2 ครั้งในปีนี้

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

วันพฤหัสบดี ตลาดจะจับตารายงานการประชุมของเฟดในเดือนมีนาคม ซึ่งเฟดมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพื่อหาแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้และปัจจัยเศรษฐกิจที่เฟดให้น้ำหนักต่อการขึ้นดอกเบี้ย นอกจากนี้ ตลาดยังจะรอดูรายงานการประชุมของธนาคารกลางยุโรปเพื่อหาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายซื้อสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าอาจจะมีการปรับลดหรือยุติโครงการดังกล่าวในเดือนตุลาคม และในวันศุกร์ นักวิเคราะห์คาดว่า ตัวเลขส่งออกและนำเข้าของจีน จะยังคงขยายตัวได้ 11% และ 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สะท้อนภาพการค้าโลกที่ยังคงขยายตัวได้ดี ทว่า สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้น จะสามารถส่งผลกระทบต่อการค้าโลกได้เช่นกัน

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในกรอบ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากบรรยากาศตลาดโดยรวมยังปิดรับความเสี่ยง รวมทั้งตลาดจะรอลุ้นตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมทั้งประเด็นการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะทำให้ตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงต่อ ซึ่งจะหนุนให้มีแรงซื้อดอลลาร์เพิ่มขึ้นจากกองทุนต่างประเทศ (FIF) เพื่อปรับลดหรือปิดสถานะการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน ตามมูลค่าพอร์ตการลงทุนที่ลดลง อย่างไรก็ดี ทั้งฝั่งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเองยังคงรอคอยให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น แข็งค่าหลุดระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือ อ่อนค่าทะลุระดับ 31.25-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 31.20-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว