รัฐเร่งเต็มสูบ 'รถยนต์บีอีวี'! สำนักงบไฟเขียว "ราชการ-รัฐวิสาหกิจ" จัดซื้อสร้างตลาด

13 เม.ย. 2561 | 12:26 น.
130461-1907

แผนขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้าคืบ! ค่ายรถยนต์ 8 ราย ขอส่งเสริมการลงทุน สำนักงบประมาณไฟเขียวให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อ ‘รถยนต์บีอีวี’ ได้ พร้อมนำไปใช้ในพื้นที่อีอีซี เพื่อส่งเสริมการตลาด หวังดันการผลิต 25% ของจำนวนประกอบ ภายใน 2 ปีนี้

จากที่คณะรัฐมนตรีมีติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2560 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี


app51739297_m

ล่าสุด ทางคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้รายงานความคืบหน้าของผลการดำเนินงานของการขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำเสนอให้ ครม. รับทราบในช่วงเดือน พ.ค. นี้

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังจากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หรือ บีอีวี ในพื้นที่อีอีซี ออกไปอีก 2 ปี หรือ ต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมภายในปี 2562 พบว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีค่ายรถยนต์รายใดมายื่นขอรับส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแต่อย่างใด ซึ่งเข้าใจว่า ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างเตรียมตัวในการจัดทำรายละเอียดของโครงการ ซึ่งยังมีระยะเวลาเหลืออีก 2 ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ขณะที่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (เอชอีวี) หรือ ไฮบริด บีโอไอได้ปิดรับยื่นคำขอส่งเสริมไปเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (พีเอชอีวี) หรือ ปลั๊กอิน-ไฮบริด มีผู้มายื่นรับคำขอส่งเสริมแล้วจำนวน 8 ราย และได้อนุมัติการส่งเสริมแล้ว 2 ราย ได้แก่ โตโยต้า ผลิตรถยนต์ไฮบริด และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ผลิตรถยนต์ปลั๊กอิน-ไฮบริด ขณะที่ อีก 6 ราย จะผลิตรถยนต์ไฮบริด 4 ราย และปลั๊กอิน-ไฮบริด 2 ราย อยู่่ระหว่างการพิจารณาของบีโอไอ

อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในการขับเคลื่อนบีอีวีนั้น ถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ค่ายรถยนต์ต้องการ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานนั้น ทางสำนักงบประมาณได้อนุมัติให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถจัดซื้อรถบีอีวีได้ โดยจะดำเนินการกำหนดบัญชีคุณสมบัติเฉพาะและบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ โดยมีเป้าหมายให้รถยนต์นั่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนการใช้ 20% ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ที่หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจจัดซื้อ


mp36-3266-b

อีกทั้ง มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พิจารณาจัดทำแผนการเช่ารถยนต์ โดยการเพิ่มการนำรถเอชอีวีและบีอีวี มาใช้เป็นรถยนต์บริการของสนามบิน (ลีมูซีน) ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รถยนต์บีอีวี มาใช้งานในพื้นที่ปลอดมลพิษภายในโครงการพัฒนาอีอีซีด้วย

รวมทั้ง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรถยนต์สี่ล้อรับจ้าง (แท็กซี่) มาปรับเปลี่ยนเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และกรมศิลปากรจะพิจารณาการนำรถยนต์บีอีวีมาให้บริการในเขตอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ เป็นต้น


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ขณะที่ กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราพิเศษ สำหรับรถยนต์ไฮบริดและปลั๊กอิน-ไฮบริด โดยลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากอัตราปกติลงกึ่งหนึ่ง และรถยนต์บีอีวีจะลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากปกติเหลือ 2% โดยมีเงื่อนไขต้องผ่านการอนุมัติจากบีโอไอ และต้องผลิตรถยนต์ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบในประเทศตั้งแต่ปีที่ 5 เป็นต้นไป

จากการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ การสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะค่ายรถยนต์บีอีวีในพื้นที่อีอีซี โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตให้ได้ 25% ของจำนวนรถยนต์ที่ประกอบทั้งประเทศ ในระยะเวลา 2 ปีนี้


FOMM-1

นายธนานันต์ กาญจนคูหา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเชีย) จำกัด ผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า ‘ฟอมม์’ (FOMM) จากประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำแผนและเตรียมยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ


GP-3356_180413_0005

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,356 วันที่ 12-14 เม.ย. 2561 หน้า 07
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อินช์เคปดันรถยนต์ไฟฟ้า‘จากัวร์-LR’
บิ๊กเยอรมนีลุยรถยนต์ไฟฟ้า เบนซ์ BMW เปิดโรงงานแบตเตอรี่-อาวดี้นำเข้า‘อีตรอน’ปีหน้า


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว