ตรวจแนวรบฝั่งจีน-อียู ตอบโต้สงครามการค้าสหรัฐฯ

13 มี.ค. 2561 | 11:22 น.
การลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีผลให้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียม 25% และ 10% ตามลำดับ มีผลบังคับใช้ คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ทันทีที่ลงนามก็เท่ากับเป็นการกดปุ่มประกาศสงครามการค้า ซึ่งคู่สงครามของทรัมป์ถือว่ามีรอบด้าน เว้นแต่ว่ารายละเอียดในมาตรการดังกล่าวจะผิดแผกไปจากเดิมที่เคยคาดกันว่าจะเป็นไปในลักษณะเหวี่ยงแห คือโดนกันทุกประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีหลายเสียงเรียกร้องให้ทรัมป์พุ่งเป้าไปที่บางประเทศเป็นการจำเพาะ เช่น จีน และมีข้อยกเว้นให้กับบางประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ซึ่งจนถึงขณะนี้ (ช่วงเวลาที่ปิดต้นฉบับ 8 มีนาคม) ก็ยังไม่มีใครเห็นรายละเอียดนั้น ซาราห์ ฮัคคาบี แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาวแย้มๆในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา(7 มี.ค.) ว่า เป็นไปได้ที่จะมีเงื่อนไขยกเว้นให้กับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเหล็กกล้ารายใหญ่มายังสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง ข้อยกเว้นยังอาจครอบคลุมถึงประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งผู้นำสหรัฐฯมีแนวโน้มว่าจะพิจารณาเป็นประเทศๆ ไป

TP10-3347-2B สหภาพยุโรป (อียู) และจีน ไม่ได้รอให้ผู้นำสหรัฐฯข่มขู่อยู่เพียงฝ่ายเดียว ท่าทีของอียูนั้นชัดเจนตั้งแต่ที่นายฌอง-คล้อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาให้สัมภาษณ์แบบสวนกลับผู้นำสหรัฐฯ เมื่อต้นสัปดาห์แล้วว่า ยุโรปไม่ยอมอยู่เฉยให้สหรัฐฯมัดมือชกตามอำเภอใจอย่างแน่นอน สำทับด้วยถ้อยแถลงของนางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าประจำสหภาพยุโรป ช่วงกลางสัปดาห์นี้ ที่ออกมาแจกแจงมาตรการ 3 ขั้นของอียูที่จะใช้ในการตอบโต้หากสหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า 25% และอะลูมิเนียม 10% เหมือนอย่างที่ขู่ไว้ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

นั่นคือ อียูจะยื่นเรื่องฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) จะจับมือกับประเทศอื่นๆที่ต่อต้านการขึ้นภาษีตามอำเภอใจของสหรัฐฯร่วมกันใช้มาตรการตอบโต้ และจะขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันที่นำเข้ามายังตลาดอียู ทั้งนี้ได้มีการทำบัญชีรายการสินค้าที่เล็งจะขึ้นภาษีตอบโต้ไว้แล้ว แต่ยังจะไม่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ กระนั้นก็ตาม มีข่าวลือเกี่ยวกับรายชื่อสินค้าอเมริกันที่จะถูกอียูขึ้นภาษีตอบโต้มาบ้างแล้ว และคาดว่ามูลค่ารวมภาษีที่ถูกเก็บเพิ่มจะอยู่ที่ระดับ 2,830 ล้านยูโร หรือราวๆ 3,520 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ อียูยังได้เตรียมพร้อมมาตรการเซฟการ์ด (Safeguard) ซึ่งเป็นมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเอาไว้แล้ว เพราะเชื่อว่าเมื่อสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า จะทำให้มีปริมาณเหล็กส่งออกจากหลายประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่ตลาดอียูมากขึ้น “แรงจูงใจของสหรัฐฯในเรื่องนี้มันคือมาตรการเซฟการ์ดซึ่งเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจและการค้า ที่ถูกอ้างและแฝงมาในคราบของมาตรการเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ” มาล์มสตรอมฟันธงถึงที่มาที่ไปของมาตรการขึ้นภาษีโดยสหรัฐฯ ว่าเป็นประเด็นทางการค้า ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงอย่างที่สหรัฐฯกล่าวอ้าง

[caption id="attachment_266875" align="aligncenter" width="503"] เซซิเลีย มาล์มสตรอม เซซิเลีย มาล์มสตรอม[/caption]

ประเทศคู่ค้ารายอื่นๆ ของสหรัฐฯมีปฏิกิริยาพร้อมรบเช่นกัน นอกเหนือจากอียูซึ่งชัดเจนที่สุดในแง่มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดา เม็กซิโก บราซิล และจีน ต่างก็มีแนวทางตอกกลับของตัวเอง นายหวัง ยี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน ยอมรับว่า ถ้าสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจริงๆ ก็พร้อมทำทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของจีนเอง แม้จะตระหนักดีว่า ถ้าสงครามการค้าเกิดขึ้นจริง ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ถ้าทรัมป์กดปุ่มเดินหน้าขึ้นภาษีเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจริง ผู้ผลิตในเอเชียน่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ผลิตในยุโรปหรืออียู เพราะเหล็กกล้าที่อียูส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯนั้นมีสัดส่วนเพียง 1.4% ของปริมาณสินค้าทั้งหมดที่อียูส่งออกไปยังสหรัฐฯ ส่วนอะลูมิเนียมนั้น อียูส่งออกไปยังสหรัฐฯคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.1% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด กล่าวได้ว่าผลกระทบโดยตรงอาจจะน้อย แต่เชื่อว่าสหรัฐฯจะไม่หยุดแค่สินค้า 2 รายการดังกล่าว เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ระบุชัดแล้วว่า เขาไม่กลัวหากจะเกิดสงครามการค้า เพราะถ้าอียูขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าอเมริกัน สหรัฐฯก็จะขึ้นภาษีนำเข้าที่เรียกเก็บจากรถยนต์ยุโรปเช่นกัน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 **ผลกระทบย้อนกระแทกสหรัฐฯ
ความอึมครึมของบรรยา กาศการค้าระหว่างประเทศที่ต่างฝ่ายตั้งการ์ดป้องกันตัวเองและพร้อมตอกกลับมาตรการกีดกันทางการค้าของอีกฝ่าย ส่งผลให้เกิดบรรยากาศความไม่แน่นอนในตลาดโดยรวม ซึ่งสหรัฐฯเองก็ได้รับผลกระทบนั้น สะท้อนจากการอ่อนตัวของตลาดหุ้นนับตั้งแต่ที่ข่าวการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมหลุดจากปากของประธานาธิบดีทรัมป์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว สถานการณ์ยิ่งดูยํ้าแย่เมื่อนายแกรี่ คอห์น หัวหน้าทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว ประกาศลาออกเป็นการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีในเรื่องนี้ ราคาหุ้นตลาดวอลล์สตรีตดำดิ่งลงทันทีที่มีข่าวการลาออก

เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงผลกระทบแบบบูมเมอแรงที่จะย้อนกลับมาสู่อุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯเอง เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมอะลูมิเนียมสหรัฐฯที่มีสมาชิกรายใหญ่อย่างบริษัท อัลโค บริษัท วัลแคน และบริษัท ริโอ ทินโต วัลแคน มีการจ้างงานรวมราว 713,000 คน ได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลหาทางออกที่จะไม่สร้างผลกระทบกับสหรัฐฯมากนัก เช่น เจาะจงเป้าหมายไปที่จีนโดยตรง และยกเว้นให้กับแคนาดา-อียู เป็นต้น เพราะมาตรการแบบครอบคลุมเหวี่ยงแหจะทำให้จีนลอยนวล ขณะที่คู่ค้าพันธมิตรของ สหรัฐฯ เช่น แคนาดา อียู เม็กซิโก ฯลฯ ได้รับผลกระทบมากกว่า

ขณะเดียวกันหลายฝ่ายในสหรัฐฯเองที่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ได้ฉายภาพให้เห็นว่า สงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย รวมทั้งสหรัฐฯ วาณิชธนกิจโกลด์แมน แซคส์ ออกถ้อยแถลงเรียกร้องให้ผู้นำสหรัฐฯทบทวนในเรื่องนี้ เพราะการขึ้นภาษีดังกล่าวจะเพิ่มความตึงเครียดและส่งผลกระทบต่อพันธมิตรของสหรัฐฯหลายประเทศ ขณะที่เจ.พี.มอร์แกน ระบุว่า ความเสี่ยงในเชิงเศรษฐกิจมหภาคจะเพิ่มมากขึ้นหากมีการตอบโต้กันด้วยมาตรการทางการค้าจริงๆ เช่นเดียวกับพยากรณ์ของบริษัท เอ็มยูเอฟจีฯ ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินของญี่ปุ่น ที่ทำนายว่า ตลาด การเงินจะปั่นป่วนจากมาตรการขึ้นภาษีที่ประเทศต่างๆ งัดมาใช้ตอบโต้กัน เสถียรภาพและความมั่นใจของผู้ลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะถดถอย ตามไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว