นิสสันชิงธงรถพลังไฟฟ้า บูมอีเวนต์ใหญ่ คนไทยเห่อแต่กลัวความปลอดภัย

16 ก.พ. 2561 | 07:06 น.
“นิสสัน” เดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมเปิดมิติใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก หลังขึ้นแท่นเป็นค่ายผู้ผลิตรถพลังงานไฟฟ้า “อีวี” อันดับ 1 หรือมียอดขายสะสมจาก “ลีฟ” และ “อี-เอ็นวี 200” (รถเพื่อการพาณิชย์) กว่า 3.5 แสนคันทั่วโลก

ล่าสุดจัดงานใหญ่ “นิสสัน ฟิวเจอร์ส” ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อระดมพลังของหน่วยงานรัฐบาล กูรู และสื่อมวลชนในอาเซียน เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ควบคู่กับการจัดแสดงเทคโนโลยี หวังสร้างการรับรู้พร้อมพัฒนารูปแบบการเดินทางในอนาคตอย่างยั่งยืน

สำหรับ“นิสสัน ฟิวเจอร์ส” ไม่ใช่งานขายของหรืออีเวนต์ประชาสัมพันธ์รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นแต่นิสสัน ยังจัดเสวนา เพื่อหาโซลูชันการขับเคลื่อนใหม่ๆที่สามารถรับมือความท้าทายต่างๆ อาทิ มลพิษ การขยายตัวของเมือง และความแออัด (โดยเฉพาะปัญหาในอาเซียน) ภายใต้แนวคิด “อนาคตของการขับเคลื่อน-พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีในอนาคต” (The future of mobility - electrification and beyond)

“นิสสันมุ่งนำเสนอโซลูชันของการขับเคลื่อนทีชาญฉลาดกว่า ปลอดภัยกว่า และยั่งยืนยิ่งขึ้นสำหรับอนาคต แต่เราไม่สามารถก้าวสู่การขับเคลื่อนแห่งอนาคตได้เพียงลำพัง ดังนั้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างที่เกิดขึ้นในงานนิสสัน ฟิวเจอร์ส ช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกันในการปูทางสู่อนาคตและกระชับความร่วมมือระหว่างกัน” นาย ยูตากะ ซานาดะ รองประธานอาวุโสระดับภูมิภาคของนิสสันกล่าว

นอกจาก นิสสัน ลีฟ ใหม่ ที่มาพร้อมการพัฒนาพลังงานขับเคลื่อนอัจฉริยะ (Intelligent Power) การขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent Driving) การเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Intelligent Integration) และแสดงเทคโนโลยี Vehicle-to-Home เพื่อนำเสนอวิธีการที่เจ้าของรถนิสสัน ลีฟสามารถป้อนพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ของตัวรถเข้าสู่บ้านเรือนได้แล้ว

MP32-3339-A นิสสันยังเผยผลสำรวจที่ทำร่วมกับ “ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน” เกี่ยวกับอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน ซึ่งเป็นการศึกษาความคิดเห็นของผู้บริโภคในประเทศ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ต่อความต้องการรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และอุปสรรคต่างๆ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,800 ราย

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าเฉลี่ย 37% ของกลุ่มตัวอย่าง มีความสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถคันต่อไป โดย ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มีเกณฑ์อยู่เหนือค่าเฉลี่ย ที่ 46% 44% 41% ตามลำดับ ขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจดีที่สุดในอาเซียน และทุ่มงบการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทันสมัย กลับมีความต้องการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตํ่าที่สุดหรือมีค่าเฉลี่ยเพียง 23%

นายวิเวก ไวทยา รองประธานอาวุโสฝ่ายระบบขับเคลื่อนของฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน กล่าวว่า การสนับ สนุนจากรัฐบาลไทย และมีโรดแมปชัดเจนเกี่ยวกับรถไฮบริด ปลั๊กอินไฮบริด อีวี ส่งผลให้คนไทยตื่นตัวกับรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่สิงคโปร์ยังมีข้อจำกัดเรื่องภาษีและใบอนุญาตการถือครองรถที่มีค่าธรรมเนียมสูง อาจทำให้ผู้คนยังไม่สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ขณะที่ประเทศไทย ผลสำรวจพบว่า ประเด็นที่คนกังวลเกี่ยวกับรถพลังงานไฟฟ้ามากที่สุดคือ 1.ความปลอดภัย หมายรวมถึง การชาร์จไฟ การเกิดอุบัติเหตุ และความสามารถในการลุยนํ้าท่วม 2.จำนวนจุดชาร์จไฟที่มีไม่เพียงพอ และ3. ค่าดูแลรักษาหรือราคาของแบตเตอรี่ที่ต้องเปลี่ยน

เหนืออื่นใด ผู้ตอบแบบสอบถาม 75% จะเปลี่ยนจากรถยนต์ทั่วไป(เครื่องยนต์สันดาปภายใน)เป็นรถพลังงานไฟฟ้า ถ้ามีการยกเว้นภาษี รวมถึงแรงจูงใจอื่นๆ เช่น การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าในอาคารที่อยู่อาศัย (70 %) การมีช่องทางขับขี่พิเศษสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (56%) และการไม่เสียค่าที่จอดรถ (53 %)

ส่วนราคาของรถพลังงานไฟฟ้าที่ผู้คนเต็มใจจ่ายสูงขึ้น เมื่อเทียบกับการซื้อรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง (ทั่วอาเซียน) ยอมจ่ายเพิ่ม 20-30% และมีจำนวน 20% ยอมจ่ายเพิ่มขึ้น 50%

ad-bkk “ความเข้าใจในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงซึ่งสูงกว่ามาก ในทางตรงกันข้าม ความเชื่อที่ว่า ราคาที่สูงของรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอุปสรรค แต่จากการสำรวจเผยว่า คนกลับมีความกังวลด้านความปลอดภัยและการชาร์จไฟ ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาลสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ลงได้ ความเป็นไปได้ของยานยนต์ไฟฟ้าก็จะมีอยู่สูง”นายวิเวก กล่าวสรุป

ทั้งนี้ในงาน “นิสสัน ฟิวเจอร์ส” ที่ประเทศสิงคโปร์ แบ่งการสัมมนาเป็นหลายหัวข้อเช่น ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า,พลังงานที่ยั่งยืนและเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน, สมาร์ทซิตี สมาร์ท โมบิลิตี้ การนำทางไปสู่อนาคต-รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเองและรถยนต์ที่เชื่อมต่อกัน

พร้อมเชิญตัวแทนจากรัฐบาลไทยให้กล่าวปาฐกถาพิเศษคือ นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนัก งานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว