บอลไทย...ไปบอลโลก(1)

28 ม.ค. 2561 | 12:11 น.
MP23-3334-1A หากพูดถึง “กีฬาฟุตบอล” คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกไปแล้ว เพราะเป็นเกมกีฬาที่สร้างความตื่นเต้น เร้าใจ รวมถึงประเด็นดราม่าต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของเกมกีฬา ตัวของนักเตะ สไตล์การทำทีมของสตาฟฟ์โค้ช รวมถึงการบริหารของเจ้าของทีมฟุตบอลเอง ด้วยเกมกีฬาฟุตบอลฮิตฮอตขนาดนี้ ทำให้คนไทยหลายล้านคน ต้องฝันถึงวันที่ “ฟุตบอลไทย...ไปบอลโลก” ฉบับนี้ ผมจึงหยิบเรื่อง “ฟุตบอลไทย” มาคุยกัน แต่คงไม่ใช่ในแง่ของเกมการแข่งขันในสนาม แต่จะมาเล่าเรื่องฟุตบอลไทย...ไปบอลโลกในแง่ของเกมการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อให้เห็น “ภาพธุรกิจบริหารทีมฟุตบอลในไทยว่าเป็นอย่างไร มีโอกาสแข่งขันในตลาดโลกหรือไม่...” ผ่านรายได้ ต้นทุน และโอกาสการเติบโตในอนาคตครับ

ลำดับแรก... เรามาดูรายได้กันครับ จากงบการเงินของบริษัทเจ้าของสโมสรรายงานต่อกระทรวงพาณิชย์ล่าสุด (ปี 2559) พบว่ารายได้ของสโมสรฟุตบอลไทยในลีก 1 และลีก 2 มีจำนวนรวมกันเท่ากับ 3.1 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนพบว่าโตเพิ่มขึ้นกว่า 1.8 เท่าตัว หรือขยายตัวเฉลี่ย 21.8% ต่อปี โดยรายได้ 85% อยู่ในทีมสโมสรลีก 1 และกว่า 55% อยู่ใน 4 ทีมใหญ่ ได้แก่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (815 ล้านบาท) เอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด (445 ล้านบาท) บางกอกกล๊าส เอฟซี (258 ล้านบาท) และทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด (200 ล้านบาท) จะเห็นว่าภาพรวมธุรกิจฟุตบอลมูลค่าตลาดกระจุกตัวใน 4 ทีมใหญ่จาก 34 ทีมที่เล่นในลีก 1 และ 2

MP23-3334-2A ต่อมา...มาดูแหล่งรายได้ธุรกิจบริหารทีมฟุตบอลกันครับว่ามาจากไหน? รายได้การทำทีมฟุตบอลมาจาก 4 แหล่งใหญ่ ได้แก่ 1) รายได้จากการจัดการแข่งขัน (Match day) ได้แก่ การขายบัตรเข้าชมเกมและกา รขายของที่ระลึกของสโมสร รายได้ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับฐานแฟนบอล โดยลีกไทยมีผู้เข้าชมเกมการแข่งขันเฉลี่ยประมาณ 4,600 คน/นัด ซึ่งฐานผู้ชมในสนามถือว่ายังเล็กกว่าลีกยอดนิยมต่างประเทศค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่น ลีกเยอรมนีและลีกอังกฤษที่มีผู้เข้าชมเฉลี่ยราว 41,500 และ 35,800 คนต่อนัด หากความนิยมกีฬาฟุตบอลเพิ่มขึ้นในไทยบวกกับทิศทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะทำให้แนวโน้มรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน 2) รายได้จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด (Broadcast) โดยสโมสรที่อยู่ในลีก 1 จะได้รับค่าลิขสิทธิ์ทีมละ 20 ล้านบาท ทีมในลีก 2 จะได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์ทีมละ 3 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีเงินอุดหนุนให้ทีมที่ยื่นเสนอแผนพัฒนาทีมโดยลีก 1 จะได้รับทีมละ 5 ล้านบาท และลีก 2 จะได้รับทีมละ 1 ล้านบาท จากกระแสความนิยมทำให้คนที่ติดตามฟุตบอลแต่ไม่มีเวลาเข้าไปสัมผัสเกมในสนาม สามารถติดตามเกมผ่านการถ่ายทอดสดทางทีวี ทำให้แนวโน้มรายได้จากส่วนนี้ของทีมฟุตบอลเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน 3) รายได้เชิงพาณิชย์ของสโมสร (Commercial) ได้แก่ รายได้จากสปอนเซอร์ การซื้อขายนักเตะของสโมสร การให้เช่าสนามฟุตบอลเชิงพาณิชย์ และ 4) รายได้จากการมีผลการแข่งขันที่ดี (Prize Money) โดยแชมป์ไทยแลนด์ลีก 1 จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท ที่สาม 1.5 ล้านบาท ในขณะที่ไทยแลนด์ลีก 2 แชมป์จะได้รับเงินรางวัล 5 ล้านบาท รองแชมป์ 3 ล้านบาท ที่สาม 1 ล้านบาท

สำหรับทีมฟุตบอลในไทยแลนด์ลีก แหล่งที่มาของรายได้จะมาจากรายได้เชิงพาณิชย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสนับสนุนของสปอนเซอร์เป็นหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 65-80% ของรายได้รวม แน่นอนว่าการที่จะได้สปอนเซอร์เข้ามาก็ต้องมาพร้อมกับผลการแข่งขันที่ดีเพื่อให้เกิดความนิยมของแฟนบอล ทำให้สปอนเซอร์นำเงินมาลงทุนให้สโมสรไปทำทีมอย่างต่อเนื่อง แต่หากผลการแข่งขันไม่ดีก็จะถูกถอนสปอนเซอร์ออกไป ทำให้รายได้หลักหายไป ดังนั้นผลการแข่งขันจึงเป็นเครื่องชี้ความอยู่รอดของการทำทีมฟุตบอลในไทย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับลีกที่มีมูลค่าตลาดสูงต่างประเทศ (รายงาน Deloitte Football Money League 2017) จะพบว่าภาพรวมรายได้ของสโมสรส่วนที่เป็นรายได้เชิงพาณิชย์หรือค่าสปอนเซอร์จะอยู่ที่ 43% ในขณะที่ 39%จะเป็นรายได้จากค่าส่วนแบ่งลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ที่เหลืออีก 18% เป็นรายได้จากการจัดการแข่งขัน จะเห็นว่าสโมสรต่างประเทศจะกระจายแหล่งรายได้เพื่อไม่ให้พึ่งพิงทางใดทางหนึ่ง จึงทำให้ผลประกอบการเติบโตอย่างสมํ่าเสมอ ซึ่งแนวโน้มการดำเนินธุรกิจสโมสรฟุตบอลในไทย หากต้องการให้เติบโตอย่างยั่งยืนมีความจำเป็นที่จะต้องกระจายแหล่งรายได้ให้มีความสมดุลมากขึ้น

728x90-03-3-503x62-3-503x62 (ติดตามตอนหน้า...ต้นทุนการทำทีมฟุตบอลไทย)

ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,334 วันที่ 25 - 27 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-11-503x62