“พรศิลป์”จ่อฟ้องศาลคุ้มครองฯนำเข้าข้าวสาลีสัดส่วน 3:1

25 ธ.ค. 2560 | 10:41 น.
“พรศิลป์”จ่อฟ้องศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราวจากผลกระทบนำเข้าข้าวสาลีสัดส่วน 3:1

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่ากำลังศึกษาว่าจะให้ศาลปกครองคุ้มคราวชั่วคราวได้หรือไม่ จากผลกระทบมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีในอัตรา 3:1 (ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน) 1 ฤดูกาล ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงตุลาคม 2561 เพราะห่วงโซ่ภาคปศุสัตว์ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรมส่งออกเนื้อสัตว์ ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นอย่างมาก การส่งออกไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดโลกได้ ขณะที่ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากปัญหาราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำ เพื่อแก้วิกฤติราคาอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น

pornsil

“การนำเข้าข้าวสาลี 4 ล้านตัน จะต้องแบ่งตัวเลขการนำเข้าออกเป็นการนำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารสัตว์และผลิตอาหารมนุษย์ ซึ่งปกติเกรดอาหารมนุษย์จะมีการนำเข้าปีละประมาณ 1 ล้านตันทุกปี ซึ่งการนำเข้าตามมาตรการ 3:1 มีการนำเข้าเกรดอาหารสัตว์ 10 เดือนอยู่ที่ 1.27 ล้านตันเท่านั้น (ไม่ใช่ 2.1 ล้านตัน) ในปี 2560 ประเทศไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4.6 ล้านตัน เมื่อรวมกับการนำเข้าข้าวสาลีตั้งแต่ต้นปี จำนวน 1.27 ล้านตัน รวมแล้วมีวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์เพียง 6 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้อยู่ที่ 8.1 ล้านตัน”

corna

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ผลผลิตข้าวโพดในประเทศอยู่ในมือพ่อค้าหมดแล้วและมาตรการคุมนำเข้าข้าวสาลีทำให้เกษตรกรขาดแคลนวัตถุดิบ เป็นการฉวยโอกาสเก็งกำไรจากราคาที่สูงขึ้น 1.50 บาท (ปัจจุบันราคาข้าวโพด กิโลกรัมละ 9-10 บาท ถ้าคิดจากส่วนที่สมาพันธ์ฯขาดแคลนอยู่ 2 ล้านตัน พ่อค้าจะได้กำไร 3 พันล้านบาท อย่างไรก็ดีราคาข้าวโพดในสถานการณ์ราคาข้าวโพดโลกปีนี้ตกต่ำมากในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตมาก ขณะที่ข้าวสาลีที่ส่งถึงประเทศไทยราคา 6.97 บาท ไม่ได้ราคาถูกอย่างที่หลายคนเข้าใจ ใช้ข้อมูลข่าวสารโจมตีทำให้สังคมเข้าใจผิด

สอดคล้องกับนายคึกฤทธิ์ อารีย์ปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เผยว่า การที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาสูงขึ้น เป็นการซ้ำเติมภาคปศุสัตว์และการส่งออก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีคู่แข่งมากมาย และปีหน้าแนวโน้มการแข่งขันจะสูงขึ้นทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดและข้าวสาลีที่สำคัญของโลก
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า อาหารสัตว์เป็นต้นทุน 60% ของการเลี้ยงสัตว์ ตอนนี้ราคาข้าวโพดสูงขึ้น 10% จากราคาเฉลี่ยกิโลกรัม 8-9.50 บาท ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่หมูเป็นทั้งตัวราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42-45 บาทเท่านั้นและสามารถขายเนื้อได้ 50% ส่วนที่เหลือเป็นการขายซาก จึงขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการคุมการนำเข้าข้าวสาลีใหม่

เช่นเดียวกับ นายวีระพงษ์ ปัญจวัฒนกุล นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ กล่าวว่า สถานการณ์ไก่เนื้อปีนี้ถึงแม้ตลาดจะมีการขยายตัวเพิ่ม เกษตรกรมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อขายต่ำกว่าต้นทุนแล้ว ยังมาประสบปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก นับว่าเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรให้ยากลำบากไปอีก ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงทบทวนแก้ไขโดยเร็วที่สุด

อนึ่ง สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประกอบด้วย 11 สมาคมด้านปศุสัตว์ อาทิ สมาคมปศุสัตว์ไทย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปเพื่อการส่งออก สมาคมกุ้งไทย สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาไทย สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมป์ สมาคมส่งเสริมผู้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย และสมาคมผู้เลี้ยงเป็ดเพื่อการค้าและการส่งออก

e-book-1-503x62