เมด อิน ไชน่า 2025 อัพ‘โรงงานโลก’สู่อุตสาหกรรมเวิลด์คลาส

04 พ.ย. 2560 | 11:09 น.
จีนได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานของโลก” มานานแล้วและยังคงเป็นอยู่อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ในอนาคตไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า โรงงานอย่างจีนตั้งเป้าว่าจะยกระดับ ปรับมาตรฐานของตัวเอง ขึ้นมาเป็นโรงงานที่ทันสมัยอาศัยทักษะความชำนาญและนวัตกรรมลํ้ายุค ผลิตสินค้าคุณภาพสูงออกไปตีตลาดโลกอย่างไม่น้อยหน้าใคร

ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ “เมด อิน ไชน่า 2025” หรือ MIC 2025 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และได้รับการตอกยํ้าความสำคัญอีกหลายครั้งในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อเร็วๆ นี้ จีนมุ่งมั่นที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและปรับทิศทางของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ไปสู่ความทันสมัย ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เพื่อสามารถขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยมีการกำหนด 10 อุตสาหกรรมหลักที่มุ่งเน้นจะพัฒนาให้ก้าวหน้าถึงขั้นแข่งขันได้กับต่างประเทศ โดย 10 อุตสาหกรรมหลักที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาดังกล่าว ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมสารสนเทศ (ไอที) รวมทั้งเซมิคอนดักเตอร์ และการเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ต

2. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
3. การผลิตอุปกรณ์อากาศยาน
4. การผลิตอุปกรณ์วิศวกรรมทางสมุทรและการต่อเรือไฮเทค
5. การผลิตรถไฟและอุปกรณ์ขนส่งในระบบราง
6. การผลิตยานยนต์ที่ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานรูปแบบใหม่
7. การผลิตอุปกรณ์พลังงาน (เช่น อุปกรณ์สายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ อุปกรณ์ประหยัดพลังงานสำหรับเมืองอัจฉริยะ ฯลฯ)
8. การผลิตวัสดุใหม่ๆ ซึ่งเกิดจากงานวิจัย
9. การผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์ และ
10. การผลิตเครื่องมือการ เกษตร

TP10-3310-A ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ตอกยํ้าในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ว่า จีนจะสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนในประเทศ สามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและออกไปแข่งขันในเวทีต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป้าหมายดังกล่าวมีพื้นฐานรองรับที่ชัดเจน โดยก่อนหน้านี้ จีนได้กำหนดหลายเมืองนำร่องในการดำเนินยุทธศาสตร์ Made in China 2025 (ซึ่งหมายถึงการกำหนดเป้าหมายบรรลุผลสำเร็จของโครงการอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี ค.ศ. 2025) ยกตัวอย่างเช่น เมืองเฉินตู ในมณฑลเสฉวน ที่ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการไปแล้ว และยังมีอีกกว่า 20 เมืองที่รัฐบาลจีนมีแผนจะอนุมัติเป็นเมืองนำร่องยุทธศาสตร์ดังกล่าวในอนาคต

[caption id="attachment_225849" align="aligncenter" width="503"] สี จิ้นผิง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง[/caption]

ยุทธศาสตร์อย่าง Made in China 2025 นับว่ามีความสำคัญอย่างมากสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสู่มิติใหม่ของจีนดังที่มีการประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งล่าสุด เพราะจีนเองก้าวมาถึงขั้นที่หากไม่ขยับมาตรฐานอุตสาหกรรมไปข้างหน้า ก็มีแต่จะติดกับดักของการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ส่งออกและจะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิเคราะห์กล่าวว่า แรงงานราคาถูกที่ลดจำนวนลง ต้นทุนการผลิตที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ กำลังกัดกร่อนความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมการผลิตของจีน

ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราอาจจะได้เห็น 5 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม เลื่อนชั้นขึ้นมาอยู่ในอันดับ 15 ประเทศแรกของโลกที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการผลิตสูงที่สุด ขณะที่จีน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1 ในปีที่ผ่านมา (2559) คาดว่าจะสูญเสียตำแหน่งแชมป์ให้กับสหรัฐอเมริกาในปี 2563 (ดังตารางประกอบ) และด้วยเหตุนี้ นโยบาย Made in China 2025 จึงยิ่งจำเป็นต้องได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบของงบประมาณสนับสนุน การเพิ่มงบด้านการวิจัย และพัฒนา และมาตรการอื่นๆ ที่จะช่วยส่งเสริม

สำหรับประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าคู่ลงทุนกับจีน นโยบาย Made in China 2025 นั้นเป็นได้ทั้งโอกาสและความเสี่ยง เพราะหากสามารถเชื่อมโยงความร่วมมือกับจีนในอุตสาหกรรมหลักๆ ที่จีนกำลังมุ่งส่งเสริมอยู่ ก็น่าจะก่อให้เกิดพันธมิตรร่วมทุนหรือการสร้างเครือข่ายธุรกิจและซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมและแข็งแกร่งขึ้นของจีน ก็อาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในเวทีโลกด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,310 วันที่ 2 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
e-book