ถอดรหัสปลดธงแดง ICAO เป้ามี.ค.61สลัดปม FAA ดาวน์เกรดไทย

14 ต.ค. 2560 | 09:01 น.
กว่า 2 ปี 10 เดือน ไทยก็สามารถปลดธงแดงได้เสียที หลังการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (ICAO-SSC : Significant Safety Concerns) 33 ข้อได้สำเร็จ จากข้อบกพร่องที่ไม่พอใจร่วม 580 ข้อ ยังเหลืออีก 547 ข้อ แม้จะไม่ใช่เรื่องซีเรียสมากนักสำหรับ ICAO แต่กพท.ก็คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 ปีจากนี้เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องได้ทั้งหมด

** 
5มิติใหม่มาตรฐานการบินไทย
การติดธงแดงที่ผ่านมาแม้จะเป็นวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสที่วันนี้จะได้เห็นมิติใหม่มาตรฐานด้านการบินของไทยเกิดขึ้นใน 5 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือการปลดธงแดงทำให้เกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือจากกิจการการบินพลเรือนทั่วโลก ทำให้สายการบินต่างๆของไทยสามารถขยายเน็ตเวิร์กไปยังต่างประเทศได้เหมือนเดิม

เรื่องที่ 2 ส่งผลให้เกิดการตรวจประเมินการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่(AOC Re-certification) ที่จะแสดงให้เห็นว่าสายการบินที่ได้รับ AOC ใหม่ล้วนมีมาตรฐานในระดับสากล มีกฎระเบียบควบคุม ในการพิจารณาออก AOC ให้ แตกต่างจากในอดีตที่การให้ AOC กับสายการบินต่างๆ จะอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นส่วนใหญ่

เรื่องที่ 3 คือ เกิดการแก้ไขกฎหมายการเดินอากาศใหม่ ให้มีความทันสมัยมีมาตรฐานสากล ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช. ซึ่งจะเป็นการแก้ไขกฎหมายทั้งฉบับ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการบินพลเรือน

เรื่องที่ 4 ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างองค์การกำกับดูแลการบินพลเรือน ไม่ให้เกิดการ ทับซ้อน และมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ 5 คือ การพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะทำให้มีเพียงพอและได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อมากำกับดูแลสายการ บินต่างๆ ของไทยอย่างแท้จริง

 

[caption id="attachment_178027" align="aligncenter" width="503"] ถอดรหัสปลดธงแดง ICAO เป้ามี.ค.61สลัดปม FAA ดาวน์เกรดไทย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม[/caption]

**ออก AOC ครบทุกสาย
ต่อเรื่องนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การปลดธงแดงที่เกิดขึ้น ถือเป็นภารกิจสำคัญของชาติ จากการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย การช่วยเหลือจาก CAA International (CAAi) ที่เราจ้างมาเป็นที่ปรึกษาให้ รวมถึงการได้รับความร่วมมือจากทางสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป หรือ EASA และประเทศพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและประเทศในสหภาพยุโรปที่ช่วยแนะนำ และที่สำคัญคือสายการบินต่างๆ ที่ดำเนินปรับปรุงคู่มือต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ และการเสียสละของสายการบินที่ต้องหยุดระหว่างประเทศชั่วคราว ซึ่งทำให้เราแก้ปัญหาได้ตรงตามเวลาที่ตกลงไว้กับ ICAO

“การปลดธงแดงที่เกิดขึ้น ยังทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างไทยและ ICAO จะเดินหน้าต่อไป ซึ่ง ICAO มีแผนจะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมบุคลากรการบิน ก็สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลเรื่องไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงทาง ICAO ยังเสนอให้ผู้ตรวจสอบของไทยที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐานใหม่ สามารถมาเป็นผู้ตรวจให้กับทาง ICAO ในการตรวจสอบประเทศต่างๆ ได้ด้วย” นายอาคม กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับความคืบหน้าในการออก AOC ใหม่ให้กับสายการบินต่างๆ ที่เหลือนั้น ปัจจุบันมีสายการบินที่ได้รับ AOC ใหม่
11 สายการบิน และคาดว่าจะมีอีก 2 สายการบินที่อยู่ระหว่างตรวจสอบขั้นสุดท้าย คือไทยเวียตเจ็ทและโอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ส ที่หากแก้ไขได้ตามแผน ก็น่าจะออก AOC ใหม่ให้ได้ภายในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ และจะทยอยตรวจสอบสายการบินที่เหลือต่อไปทั้งหมดให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ รวมถึงต้องทบทวนการออก AOC ใหม่ให้กับสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ 10 สายการบิน เฮลิคอปเตอร์ 7 บริษัท

MP22-3304-B **เร่งเครื่องแก้ปม FAA
อีกทั้งการปลดธงแดง ICAO ที่เกิดขึ้น ยังทำให้ไทยใจชื้นขึ้น สำหรับแผนการปลดล็อกปัญหา ในกรณีที่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ไทยถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกาหรือFAA ดาวน์เกรดมาตรฐานการบินของไทยจากเดิมที่อยู่ในประเภทที่ 1 (Category 1) ซึ่งหมายถึงได้มาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน มาอยู่ในประเภทที่ 2 (Category 2) คือ ไม่ได้มาตรฐานของ ICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน ซึ่งส่งผลต่อ สายการบินของไทยที่จะไม่สามารถทำการบินเข้าสหรัฐอเมริกาได้

ต่อเรื่องนี้นายจุฬา สุข-มานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กล่าวว่าข้อบกพร่องที่ FAA ติงกว่า 40 ข้อ กว่า 70% เป็นข้อบกพร่องที่ ICAO ติติงไว้ ซึ่งเมื่อเราแก้ปัญหาธงแดงได้ หลายข้อก็ถือว่าได้แก้ไขไปแล้ว เหลือแก้ไขอีกราว 30% โดยเฉพาะเรื่องหลักที่ FAA ติงไว้ ที่กพท.ต้องมีการทบทวนการออกใบอนุญาตนักบินให้กับสายการบินต่างๆ รวมแล้วกว่า 5 พันคน ซึ่งเราทำไปแล้วราว 1 พันคน แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะได้มีการแจ้งกับ FAA แล้วว่าจะใช้วิธีมอบอำนาจให้นักบินเข้ามาช่วยกพท.ในการตรวจสอบนักบิน ช่วยลดเวลาออกใบอนุญาตนักบิน

“เราไม่ต้องออกใบอนุญาตนักบินครบทุกคน เพียงแต่เสนอแผนให้ FAA รับทราบเท่านั้น ดังนั้นภายในสิ้นปีนี้กพท.จะเชิญ FAA มาพรี-ออดิต แผนการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ คาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2561 เราตั้งเป้า ว่า FAA น่าจะยกระดับไทยมาสู่ Category 1 เหมือนเดิม เพื่อให้การบินไทย สามารถเปิดบินเข้าสหรัฐอเมริกาได้ในช่วงตุลาคมปีหน้า รวมทั้งผมยังจะนำข้อมูลการแก้ไขเพื่อปลดธงแดง ICAO รายงานแก่ที่ประชุมใหญ่ EASA ในช่วงวันที่ 13-14 พฤศจิกายน ให้ EASA มั่นใจ เพื่อต่อไปกพท.จะได้ไม่ต้องไปรายงานแผนการแก้ไขปัญหาให้ EASA รับทราบทุก 6 เดือนเหมือนแต่ก่อน และสายการบินของไทยก็จะไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างหนักเมื่อทำการบินเข้ายุโรปอย่างที่ผ่านมา” นายจุฬากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งหมดเป็นความพยายามที่นำไปสู่การปลดธงแดง และเคลียร์ปัญหาที่หมักหมมในอดีต เพื่อสร้างมาตรฐานการกำกับดูแลการบินพลเรือนของไทย ที่จะทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นฮับการบินในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1