กรมท่าอากาศยานรุกพัฒนา 28 สนามบินสู่ศูนย์กลางการบินภูมิภาค

14 ก.ค. 2560 | 07:56 น.
กรมท่าอากาศยาน ประกาศเดินหน้าแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก บูรณาการบริหารสนามบิน 28 แห่งครอบคลุมด้านการพัฒนาสนามบิน การเพิ่มศักยภาพการบริหารงาน และพัฒนาศักยภาพบุคลากร จัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัวพร้อมรุกการแข่งขันสร้างผลกำไร ชูความได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ถูก แต่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด  ก้าวสู่การเป็นฮับการบินในภูมิภาคอาเซียน

[caption id="attachment_179556" align="aligncenter" width="335"] นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)[/caption]

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของกรมท่าอากาศยานในปีนี้จะดำเนินงานในเชิงรุก เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์กรมท่าอากาศยานปี 2560-2564  ทั้งในด้านการพัฒนาท่าอากาศยานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสามารถรองรับการเติบโตด้านคมนาคมทางอากาศ ดำเนินงานท่าอากาศยานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเป้าที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค

“วันนี้กรมท่าอากาศยาน มีภารกิจเร่งด่วนในการเดินหน้าพัฒนาองค์กรแห่งนี้เชิงรุกโดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะยกระดับอุตสาหกรรมการบินให้ก้าวสู่การเป็นฮับการบินในภูมิภาคอาเซียน” นายดรุณกล่าว

สำหรับแผนการบูรณาการบริหารสนามบินทั้ง 28 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยานนั้นจะครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาสนามบินและการเพิ่มศักยภาพการบริหารงาน และบุคลากร ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกรมท่าอากาศยานจากเดิมที่ถือว่ามีจุดแข็งและความได้เปรียบในด้านการมี      ท่าอากาศยานที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค มีความพร้อมต่อการรองรับการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยง การเดินทางทำให้มีผู้ใช้บริการในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงผู้ประกอบการสายการบินที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

265535 ทั้งนี้สำหรับแผนการพัฒนาสนามบินแบ่งเป็นแผนพัฒนาระยะที่ 1 (2560-2564) จะใช้งบประมาณ 29,154.75 ล้านบาท  โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานที่มีศักยภาพ อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ ,นครศรีธรรมราช ,ขอนแก่น ,ตรัง และสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันสนามบินดังกล่าวมีผู้โดยสารใช้บริการเกินขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินไปแล้ว ส่วนแผนพัฒนาระยะที่ 2(2565-2569) จะใช้งบประมาณ 9,407.03 ล้านบาท  ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานอุบลราชธานี ,อุดรธานี ,ร้อยเอ็ด ,สกลนคร ,เลย และหัวหิน

ส่วนแผนการเพิ่มศักยภาพงานบริหารและบุคลากรนั้น ถือเป็นปีแรกที่ ทย. ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของ 28 ท่าอากาศยานในสังกัด โดยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจ (Business Unit) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและการแข่งขันในเชิงธุรกิจ ทำให้ทราบว่าท่าอากาศยานไหนมีผลประกอบการเป็นอย่างไรบ้าง และให้เกิดการแข่งขันกันเอง ขณะเดียวกันด้านบุคลากรก็ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานทีมการตลาดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ได้มีการปรับโครงสร้างการทำงานของท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง โดยเปลี่ยนเป็นหน่วยธุรกิจเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการหารายได้เอง มีการตั้งทีมงานการตลาดเพื่อหาช่องทางการเพิ่มรายได้จากเดิมให้มากขึ้น รวมถึงหาช่องทางการเพิ่มรายได้อื่นๆ ซึ่งจากข้อมูลด้านการเงินเบื้องต้นทำให้ทราบว่ามีหลายท่าอากาศยานที่มีผลประกอบการมีกำไร อาทิ ท่าอากาศยานกระบี่ ,นครศรีธรรมราช ,อุบลราชธานี ,สกลนคร ,น่าน ,อุดรธานี ,ขอนแก่น ,สุราษฎร์ธานี ,ตรัง ,นครพนม ,เลย”นายดรุณกล่าว

นายดรุณ กล่าวต่อว่า นอกจากความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในการมีท่าอากาศยานที่ตั้งที่ชัดเจนเหมาะสมกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคพร้อมต่อการพัฒนา รวมถึงต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ทำให้ประชาชนได้รับบริการในราคาที่ถูกกว่า และการบริการที่ได้รับการยอมรับแล้วนั้น กรมท่าอากาศยานถือเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น เป็นฐานปฏิบัติการฝนหลวง การขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสาธารณูปโภคการขนส่งทางอากาศขั้นพื้นฐานของประชาชน และที่สำคัญประชาชนเป็นเจ้าของหน่วยงานที่แท้จริง ไม่เพียงแต่การพัฒนาทุกสนามบินให้มีมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยและทันสมัย รองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ยังคำนึงถึงประชาชนหรือผู้ใช้บริการในฐานะเจ้าของหน่วยงานที่แท้จริงให้ได้รับบริการที่ถูกและคุ้มค่าที่สุด รวมถึงการช่วยเหลือสังคมในทุกมิติเพื่อให้เป็นท่าอากาศยานของคนไทยที่ได้รับการยอมรับจากสากลอย่างแท้จริง

วันนี้กรมท่าอากาศยานพร้อมแล้วที่จะเป็นหนึ่งในการร่วมพัฒนาประเทศไทย ให้ก้าวไกลในทุกๆ ด้าน  ทั้งการคมนาคมทางอากาศ  การขนส่งสินค้า  การท่องเที่ยว  และเศรษฐกิจ  เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลให้เป็นประเทศไทย 4.๐ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย  อย่างไม่หยุดยั้ง  เพื่อให้ทุกท่าอากาศยานเป็นทุกโอกาสและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งหลังจากที่โครงการพัฒนาท่าอากาศยานแล้วเสร็จ  จะทำให้ท่าอากาศยานสามารถที่จะรองรับผู้โดยสารได้ตรงตามเป้าหมาย โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 30 ล้านคนต่อปี ในปี 2568  และรองรับได้ถึง 58 ล้านคนต่อปี ในปี 2578 โดยเป็นไปตามมาตรฐาน ICAO