โดยมีหัวหน้าทีมเจรจาสหรัฐ คือ รัฐมนตรีคลัง สก็อตต์ เบสเซนต์ (Scott Bessent) และนายเจมิสัน กรีเออร์ (Jamieson Greer) ผู้แทนการค้าสหรัฐ ฝ่ายจีนมีหัวหน้าทีมเจรจาคือ รองนายกรัฐมนตรี เหอ ลี่เฟิง (He Lifeng) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (Li Chenggang) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
(Liao Min) สก็อตต์ เบสเซนต์ เรียกการหารือนี้ว่า “สร้างสรรค์และก่อให้เกิดประโยชน์ (productive and constructive) เพื่อลดระดับความขัดแย้งทางการค้า” ในขณะที่ เหอ ลี่เฟิง กล่าวว่าการหารือ “ลึกซึ้ง ตรงไปตรงมา” (in-depth and "candid)
ส่วนเอกอัครราชทูตเจมิสัน กรีเออร์ กล่าวว่า “ข้อตกลงที่เราทำกับจีนจะช่วยลดตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์” (ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เมษายน สหรัฐฯ สามารถลดการขาดดุลไปแล้ว 63 พันล้านเหรียญ)
ก่อนที่จะมาถึงวันเจรจา ท่าทีจีนย้ำมาตลอดว่า สหรัฐฯ ต้องลดภาษีกลับไปเท่าเดิมก่อน ส่วน รมต. คลัง สหรัฐ บอกว่าไม่ได้คาดหวังผลการเจรจา แต่ทรัมป์บอกจะลดภาษีให้จีนเหลือ 80% สำหรับผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ทรัมป์ “ประกาศชัยชนะ” จีนบอกเป็นการแสดง “ความรับผิดชอบ สู่เวทีโลก” ผลการเจรจา โดยออกข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2568 ดังนี้
สหรัฐฯ ลดภาษีสินค้าจีนเหลือ 30% (จาก 145%) จีนลดภาษีสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 10% (จาก 125%) มีผลบังคับใช้ 90 วัน เริ่มวันที่ 14 พฤษภาคม สิ้นสุดวันที่ 14 สิงหาคม 2568 หลังจากนี้จะมีการเจาจากันต่อไป โดยทั้ง 2 ฝ่าย สร้างกรอบความร่วมมือใหม่ (economic and trade consultation mechanism)
แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศบรรลุข้อตกลงยกแรกได้ ก็ตาม ถือว่า เป็น “หนังตัวอย่าง” ของจริงรออยู่ข้างหน้า ซึ่ง “โจทย์ยากขึ้น” ที่สหรัฐ ต้องการให้จีนแก้ไข ได้แก่ การลดอุดหนุนการผลิต การบังคับถ่ายถอดเทคโนโลยีต่างชาติให้บริษัทจีน การละเมิดลิขสิทธิ์ การแทรงแซงค่าเงินหยวน และสิทธิมนุษยชน
กลยุทธ์ทรัมป์ใช้กับจีนและทั่วโลกคือ "Shock และ Retreat" คือ ใช้ภาษีนำเข้าบีบและกดดันให้หนักสุด จนตกใจ เกิดความกลัว และค่อยถอยมาเจรจาแบบมียุทธศาสตร์ อย่างกรณีจีน เป็นต้น
การขึ้นภาษีนำเข้าสูงไว้ก่อน ซึ่งจะสูงเท่าไรก็ได้ และจะลดลงเท่าไรก็ได้ ไม่มีอะไรผูกมัด หรือต้องไปขออนุญาตใคร สิ่งที่ได้คือสร้างปัญหาให้คู่ค้า นี่คือกลยุทธ์ที่ทรัมป์ใช้กับทุกประเทศ
การได้ข้อสรุปเบื้องต้นกับจีน ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ตามใจปรารถนาของทรัมป์ การถอยของทรัมป์จะมีช่วงจังหวะเวลา ที่ตัวเองกำลังเสียเปรียบ ทรัมป์ รู้ว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ โอกาสเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จะสูงมากขึ้น คนสหรัฐเริ่มขาดแคลนสินค้า
กลยุทธ์ “Shock และ Retreat” จึงอยู่บนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ล้วนๆ ไม่คำนึงถืงการค้าโลกแบบพาหุภาคีที่มีมา 80 ปี (หลัง WWII หลังการตั้ง GATT) แม้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับ แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่ต่อไป นักธุรกิจไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้เลย ว่าไปในทิศทางใด ขึ้นกับนโยบายภาษีทรัมป์ต่อการค้าโลก ที่ยังไม่มีใครมั่นใจได้ว่า “จะเป็นแบบไหน ในทิศทางใด”
บทความโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช
ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน